นายสัตวแพทย์อภัย  สุทธิสังข์  อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีรายงานพบโรคพิษสุนัขบ้าในหลายพื้นที่ และอยู่ในระหว่างที่กรมปศุสัตว์เร่งรัดดำเนินการกำจัดโรคในทุกจุดเกิดโรค แต่ยังมีพื้นที่ในอีกหลายจังหวัดที่ไม่พบโรคพิษสุนัขบ้าในทั้งสัตว์และคนเป็นเวลานาน โดยนับย้อนหลังไป 3 ปี และพร้อมที่จะประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าตามหลักเกณฑ์การสร้างพื้นที่ปลอดโรคขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้ภายในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวประกอบด้วย การไม่พบโรคทั้งในคนและสัตว์ย้อนหลัง 2 ปี สุนัขและแมวได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุมร้อยละ 80 ขึ้นไป มีการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวได้ร้อยละ 80 ขึ้นไป มีการควบคุมจำนวนประชากรสุนัขและแมว  รวมทั้ง มีระบบการเฝ้าระวังโรคอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น  โดยมีทั้งหมด 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท ชุมพร เชียงใหม่ ตราด นครสวรรค์ นราธิวาส บึงกาฬ พังงา เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ลพบุรี ลำปาง ลำพูน สกลนคร สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อ่างทอง และอุทัยธานี ซึ่งขณะนี้กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกข้อตกลงหรือ MOU เพื่อลงนามร่วมกันระหว่างกรมปศุสัตว์กับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแต่ละจังหวัดดังกล่าว เพื่อร่วมแรงร่วมใจในการรักษาสถานภาพปลอดโรค ทั้งนี้ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและแสดงถึงเจตจำนงค์อันมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะรักษาสถานภาพปลอดโรคเอาไว้ให้ได้

                อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนยุทธศาสตร์การดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พ.ศ. 2560 – 2563 ได้กำหนดเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าภายในปี พ.ศ. 2563 ดั้งนั้น หากทั้ง 22 จังหวัดมีการรักษาสถานภาพปลอดโรคเอาไว้ได้ ควบคู่กันไปกับการเร่งรัดกำจัดโรคในจังหวัดอื่นๆให้ได้ภายในปีพ.ศ. 2562 ก็จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสปลอดโรคได้เหมือนอารยะประเทศอื่นๆ ต่อไป

                ด้าน นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์มีนโยบายที่จะเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในทุกจุดเกิดโรค โดยการดำเนินการต่างๆ จะคำนึงถึงความปลอดภัยจากโรคของประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังทั้งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558  และพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557  เพื่อควบคุมโรคและหยุดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในทุกพื้นที่ที่เกิดโรค โดยใช้มาตรการ 2+1 นั่นคือ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2561 จะมีการเร่งรัดควบคุมโรคในทุกพื้นที่ที่เกิดโรค (ในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค) ด้วยการฉีดวัคซีน (Ring Vaccination) ในสุนัขและแมวให้ครอบคลุมทุกตัวทั้งมีและไม่มีเจ้าของ อีกทั้งสัตว์กลุ่มเสี่ยง สัตว์ที่สัมผัสโรค หรือสัตว์ที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ป่วยที่ตรวจพบโรค (Index case) จะต้องได้รับการจับกักแยกออกจากคนและสัตว์อื่น เพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนและเฝ้าระวังทางอาการต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนหรือตามหลักวิชาการ และหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2561 จะมีการเร่งรัดประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นเพื่อสร้างการตระหนักรับรู้เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ แก่ประชาชน โดยให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งกรมปศุสัตว์จะเริ่มต้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป

                ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องเร่งรัดสำรวจและขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว เร่งรัดการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่มีคุณภาพให้สอดคล้องกับจำนวนสุนัขและแมวที่มีอยู่ในพื้นที่ รวมถึงความร่วมมือในการดำเนินการตามนโยบาย มาตรการ และแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคของกรมปศุสัตว์ต่อไป รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด

                                                        *********************************
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์                                                        ข่าว : น.ส.เพ็ญศิริ  ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ