นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสภาพอากาศแปรปรวนอากาศร้อนสลับกับหนาวเย็น สภาพดังกล่าวทำให้สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์ปีกอาจไม่สามารถปรับตัวได้ ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย กรมปศุสัตว์ขอให้พี่น้องเกษตรกรเฝ้าระวังดูแลสุขภาพสัตว์ปีกในระยะนี้อย่างใกล้ชิด โดยการจัดเตรียมหรือหาโรงเรือน ให้สัตว์ปีกอยู่อาศัย ที่สามารถป้องกันสัตว์ปีกจากสภาพอากาศภายนอกได้ และต้องมีวัสดุปูรอง ตลอดจนจัดเตรียมอาหารและน้ำสะอาดให้เพียงพอ และทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรค สามารถเสริมวิตามินและแร่ธาตุ เพื่อให้ร่างกายสัตว์ปีกแข็งแรง
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงรายงานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) หลังจากทางการของจีนพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคไข้หวัดนกว่า สำหรับประเทศไทยกรมปศุสัตว์ได้แจ้งองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE ว่าไทยปลอดโรคไข้หวัดนก มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ไม่พบรายงานการเกิดโรค เนื่องจากที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ ภาคเอกชน และเกษตรกร ได้ร่วมกันดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์ได้ติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว
“กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกรายย่อย แบบเคาะประตูบ้าน พร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและดำเนินการพ่นยาฆ่าเชื้อตามพื้นที่เสี่ยง อาทิ พื้นที่ที่เลี้ยงสัตว์ปีกรายย่อย พื้นที่ตามแนวชายแดน และพื้นที่นกอพยพ” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว และมีคำแนะนำแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกในช่วงนี้ว่า เกษตรกรต้องใส่ใจและเข้มงวดกับมาตรการป้องกันโรคที่ดำเนินการอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถป้องกันการเกิดโรคไข้หวัดนกได้ ขณะเดียวกัน ควรปฏิบัติตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ ทั้งในด้านการดูแลสัตว์เลี้ยง การควบคุมและการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกออกจากพื้นที่ ตลอดจนการกำจัดสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตายอย่างถูกต้อง ด้วยวิธีการเผาหรือฝังกลบอย่างถูกวิธี หากมีสัตว์ปีกตายผิดปกติ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทันที ส่วนผู้บริโภค ควรเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ปีกที่ผ่านการปรุงสุกเท่านั้น ควบคู่กับการปฏิบัติตามหลักการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ คือ การทานร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในตอนท้ายว่า หากผู้ใดพบเห็นสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ สามารถแจ้งอาสาปศุสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัด อย่างเร่งด่วน หรือแจ้งผ่านสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 096-301-1946 และที่สำคัญห้ามนำสัตว์ปีกดังกล่าวไปประกอบอาหารหรือทิ้งในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเด็ดขาด ต้องทำลายซากสัตว์อย่างถูกต้องด้วยการฝังหรือเผา ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรค มิให้แพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที ./
..............................
ข้อมูล/ข่าว : กลุ่มควบคุมป้องกันโรคสัตว์ปีก สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์