วันพุธที่ 28 มีนาคม 2561 นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานพิธีปล่อยตู้คอนเทนเนอร์บรรจุผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกเที่ยวปฐมฤกษ์ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เดิมประเทศไทยเคยส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกปรุงสุกไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างต่อเนื่อง แต่ ได้หยุดส่งออกเนื่องจากการเกิดโรคไข้หวัดนกระบาด ในช่วงต้นปี 2547 และตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมการส่งออก ในปี 2560 กรมปศุสัตว์จึงได้เชิญคณะผู้เชี่ยวชาญจากจีน มาตรวจสอบระบบการกำกับดูแลการผลิตเนื้อสัตว์ปีก และตรวจสอบโรงงานเชือดสัตว์ปีกในประเทศไทย จำนวน 19 แห่ง หลังการตรวจสอบเสร็จสิ้นฝ่ายจีนมีความพึงพอใจเป็นอย่างมากจนนำไปสู่การร่วมจัดทำพิธีสาส์นว่าด้วยเงื่อนไขหลักเกณฑ์การตรวจสอบการกักกันและสุขอนามัยในการนำเข้าไก่แช่แข็งและชิ้นส่วนจากราชอาณาจักรไทย ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างสำนักงานกำกับควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันแห่งชาติ (AQSIQ) สาธารณรัฐและประชาชนจีน และกรมปศุสัตว์ ในครั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนไม่ว่าภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ร่วมกันปฏิบัติตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยในการนำเข้าไก่แช่แข็งและชิ้นส่วนไก่จากประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน และ ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ ทั้งใน ด้านการค้าขาย และในด้านความร่วมมืออื่นๆ ดำเนินไปได้ด้วยดี
ด้านนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 สำนักงานการขึ้นทะเบียนรับรองและหน่วยรับรองระบบงานแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือ CNCA ได้ประกาศขึ้นทะเบียนรายชื่อบริษัทผู้ผลิตเนื้อไก่สดของไทยจำนวน 7 ราย ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกเนื้อไก่สดได้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป โดยจีนกำหนดให้ขนส่งสินค้าผ่านเฉพาะทางท่าเรือกวนเล่ย เมืองเชียงรุ้ง หรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนติดชายแดนลาว และอยู่ใกล้กับเขตอ.เชียงแสน จ.เชียงราย การส่งออกสินค้าล็อตแรกในวันที่ 28 มีนาคม 2561 นี้มีจำนวน 14 ตู้คอนเทนอนอร์ มูลค่าราว 35 ล้านบาทและจะมีการส่งออกต่อเนื่อง โดยประเมินว่าการส่งออกของทั้ง 7 โรงงาน จะสร้างรายได้ประมาณ 7,000 ล้านบาท ต่อปี แต่ถ้าได้รับรองโรงงานครบทั้ง 19 แห่ง จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี
******************
ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
ข่าว : นางสาวจิรภา วงษ์ศุข นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเลขานุการกรม