ในวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2561 นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี โดยจะมีพิธีปล่อยขบวนรถชุดปฏิบัติการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ณ ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์ จังหวังปทุมธานี เวลา 09.00 น. และออกเดินทางไปยังเทศบาลตำบลบ้านสร้าง อำเภอบางปะอิน และวัดมณฑลประสิทธิ์ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อพบปะประชาชนและเยี่ยมชมจุดปฏิบัติงานการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การผ่าตัดทำหมันสุนัข-แมว และรถผ่าตัดทำหมันเคลื่อนที่ของกรมปศุสัตว์ การขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวโดยระบบ Thai rabies.Net การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า และชี้แจงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรคพิษสุนัขบ้าทั้งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 จากนั้น ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์พักพิงสุนัขต้นแบบการบริหารจัดการสัตว์จรจัด ที่คลอง 12 อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ต่อไป ซึ่งปัจจุบันจังหวัดปทุมธานีไม่พบการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพบว่า มีการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 2 ตัวอย่างจากตัวอย่างส่งตรวจทั้งหมด 40 ตัวอย่าง ในพื้นที่อำเภอบางปะอิน 

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้าภายในปี พ.ศ.2563 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาตราจารย์ดร.สมเด็จ-พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พ.ศ.2560-2563 โดยจะต้องไม่พบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์และผู้ป่วยติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า โดยการดำเนินการดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อการดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มแข็งและสร้างจิตสำนึกในการเลี้ยงสัตว์แก่ประชาชน ทั้งนี้ จะมีการดำเนินงานตามโครงการและมาตรการต่างๆอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อควบคุมโรค และหยุดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในทุกพื้นที่ที่เกิดโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ของโรคไม่รุนแรงกว่าปี 2559 และ 2560 ประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นจำนวนมากในขณะนี้ เป็นผลมาจากกรมปศุสัตว์มีการเร่งรัดสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อย่างจริงจัง เพื่อให้โรคสงบอย่างรวดเร็ว ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ให้เกิดโรคระบาด หากเกิดโรคต้องทำให้สงบอย่างรวดเร็ว ไม่ให้แพร่กระจายไปที่อื่น ซึ่งต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 โดยประกาศเขตโรคระบาด มีรัศมี 5 กม. ให้มีการสำรวจสุนัข-แมวในรัศมี 5 กม. ให้ได้ 100 % และดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้ 100 % สั่งกักสัตว์ที่มีเจ้าของห้ามออกนอกบริเวณบ้าน ยกเว้นได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หากพบสัตว์เป็นโรคหรือสัตว์สัมผัสกับสัตว์ป่วยหรือสงสัยว่าเป็นโรค เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการทำลายสัตว์ทันที ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 12 มีนาคม 2561 มีจังหวัดประกาศพื้นที่เขตโรคระบาดชั่วคราว 37 จังหวัด และขณะนี้คงเหลือประกาศ 26 จังหวัด ซึ่งบางจังหวัดมีเพียง 1 จุด, บางจังหวัดมีเพียง 2 - 3 จุด (1 จุดมีรัศมี 5 กม.) โดยที่จังหวัดที่มีประกาศ 1 จุด มีจำนวน 8 จังหวัด จังหวัดที่มีประกาศ 2 จุด มีจำนวน 11 จังหวัด จังหวัดที่มีประกาศ 3 จุด มีจำนวน 3 จังหวัด และจังหวัดที่มีประกาศมากกว่า 3 จุด มีจำนวน 4 จังหวัด ทั้งนี้ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวมีอายุ 30 วันนับตั้งแต่วันประกาศ โดยไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้นอีก

ด้านนายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวให้ความมั่นใจกับประชาชนในทุกพื้นที่ว่า ในปีนี้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับสัตว์เลี้ยงของประชาชน โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นตั้งงบประมาณ 311 ล้านบาท เป็นค่าวัคซีน พร้อมอุปกรณ์ และงบประมาณ 60 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการสำรวจสัตว์สุนัข-แมว ปีละ 2 ครั้ง ส่วนกรมปศุสัตว์จัดซื้อวัคซีน 1 ล้านโด๊ส เพื่อนำไปใช้ในการควบคุมโรคในพื้นที่เกิดโรคและจุดเสี่ยง และที่สำคัญ ประชาชนหรือเจ้าของสัตว์เลี้ยง สามารถพาสุนัขและแมวไปที่สถานพยาบาลสัตว์ได้ซึ่งทั้งประเทศมี 2,300 แห่ง และสามารถฉีดวัคซีนได้ 700,000 ตัว/ปี

อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้เน้นย้ำว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่พร้อมจะดำเนินการให้ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าอยู่หลายจังหวัด ซึ่งเป็นไปตามหลักคำนิยามจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE (Office International des Epizooties) โดยแบ่งเป็นจังหวัดสีเขียว หมายถึง จังหวัดที่ไม่พบการเกิดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ ไม่น้อยกว่า 2 ปี ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 21 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ลำพูน สุโขทัย บึงกาฬ หนองบัวลำภู สกลนคร นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี ตราด ชุมพร พังงา ภูเก็ต และนราธิวาส ส่วนจังหวัดสีเหลือง หมายถึง จังหวัดที่พบการเกิดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเฉพาะในสัตว์ ในระยะเวลา 2 ปี ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 42 จังหวัด ส่วนจังหวัดสีแดง หมายถึง จังหวัดที่พบการเกิดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ ในระยะเวลา 2 ปี ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 14 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สงขลา ระยอง ตาก ศรีสะเกษ กรุงเทพมหานคร สระแก้ว ตรัง ซึ่งอยู่ระหว่างการเร่งรัดกำจัดโรคอย่างเข้มข้นในขณะนี้

*****************************

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์                        ข่าว : น.ส.เพ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ