นายสัตวแพทย์อภัย  สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ประจำวันที่ 15 มีนาคม 2561 ดังนี้  การฉีดวัคซีนให้แก่สุนัข-แมว ที่รับผิดชอบโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  และได้ตั้งเป้าหมายไว้ 8.24 ล้านตัว ซึ่งตามหลักวิชาการแล้ว จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 80 % ของสุนัข-แมวทั่วประเทศ จำนวน 32,000 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มีนาคม 2561) มีผลงานสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 – 14 มีนาคม 2561 จำนวน 1,480,021 ตัว โดยการฉีดวัคซีนในรัศมี 5 กม. รอบจุดเกิดโรคได้ 80-100 % แล้ว และคาดว่าในช่วงรณรงค์ (มีค.-พค.) จะได้ 80 % ของสุนัข-แมวทั่วประเทศ

ในส่วนของกรมปศุสัตว์นั้น มีเป้าหมายที่จะทำหมันสัตว์ จำนวน 300,000 ตัว คิดเป็น 30 %ของจำนวนประชากรสัตว์จรจัด ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 837 ตัว มีผลงานสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 – 14 มีนาคม 2561 จำนวน 80,148 ตัว ทำการอบรมอาสาการฉีดวัคซีน จำนวน 70 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ 17,500 คน มีผลงานสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 – 14 มีนาคม 2561 จำนวน 15,626 คน ซึ่งเป็นอาสาจากท้องถิ่นละ 1-2 ราย ทำงานร่วมกับ อสม. นอกจากนั้น ยังมีการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวอีก โดยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าไว้ว่าสุนัขและแมวทุกตัวจะต้องขึ้นทะเบียน ซึ่งมีผลงานสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 – 14 มีนาคม 2561 จำนวน 277,556 ตัว และคาดว่าจำนวนประมาณ 10 ล้านตัว จะทำการสำรวจสิ้นสุด ณ เดือนกันยายน 2561

                   ด้านสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในคนที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานมาว่า ในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 13 ราย ในปี 2560 มีผู้เสียชีวิต 11 ราย ในปี 2561 คือระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 14 มีนาคม 2561 มีผู้เสียชีวิต 4 ราย

                   ส่วนการประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ในช่วงมกราคม – 14 มีนาคม 2561 มีการประกาศเขตโรคระบาด โดยยึดตามประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว (อายุ 30 วัน) ดำเนินการควบคุมโรคเป็นจุดๆ ละ 5 กิโลเมตร จำนวน 38 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ อยุธยา จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เลย หนองคาย เชียงราย น่าน ตาก เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา สตูล และนนทบุรี ซึ่ง ณ วันที่ 15 มีนาคม 2561 เหลือ 26 จังหวัด ได้แก่ อยุธยา นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ปราจีนบุรี อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา สุรินทร์ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น น่าน เชียงราย เพชรบูรณ์ ตาก ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สุราษฎร์ธานี สตูล และสงขลา

                   อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์มีเหตุผลความจำเป็นในการประกาศเขตโรคระบาด เพื่อสามารถกำหนดพื้นที่ควบคุมในระยะ 5 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค ทำให้สามารถระบุชนิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ต้องควบคุมได้ทุกชนิด ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ตามประกาศเว้นแต่ได้รับอนุญาต และสัตวแพทย์สามารถสั่งดำเนินการกับสัตว์ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยหรือสงสัยว่าเป็นพาหะของโรคระบาดได้ทันที หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 02-6534444 ต่อ 4181               

*************************************************

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์                                                     ข่าว : น.ส.เพ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ