กรมปศุสัตว์จัดพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) โครงการ  “การเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะในระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์” ระหว่างกรมปศุสัตว์กับผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์และผู้ประกอบการสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์  ในวันจันทร์ที่  30 เมษายน  2561 เวลา 09.00 น.  ณ  ห้องแกรนด์บอลรูม ซี โรงแรมมิราเคิล    แกรนด์ คอนเวชั่น  กรุงเทพฯ

             นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่าโครงการ “การเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะในระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์”  นี้เป็นกิจกรรมที่อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 - 2564     ที่ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ โดยภาคปศุสัตว์มีเป้าประสงค์หลักที่สำคัญ คือลดการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ลง 30 % ภายในระยะเวลา 5 ปี ดังนั้น กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักจึงร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการโครงการเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะในระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์โดยนำร่องโครงการในสุกรขุนและจะขยายผลไปยังสัตว์ชนิดอื่น ๆ ต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย

ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ 5 ราย ได้แก่ บริษัท ฟินนอร์-เอเชีย จำกัด บริษัท สามพรานฟาร์ม จำกัด บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รวมทั้งหมด  144  ฟาร์ม สุกรขุน 248,470 ตัว

            ผู้ประกอบการสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ 4 ราย ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด (Tops market) บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด (Tesco Lotus) บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (Big C) และบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (makro)

            โดยแนวทางการดำเนินงานโครงการดังกล่าว มีดังนี้

  1. กรมปศุสัตว์มอบหมายให้แต่ละเขต/จังหวัดในการตรวจประเมินและรับรองฟาร์มเลี้ยงสัตว์ พร้อมเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหายาปฏิชีวนะที่อาจปนเปื้อนอยู่ในอาหารสัตว์ น้ำที่ใช้เลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ตลอดจนเนื้อสัตว์ที่โรงฆ่าสัตว์

2.ฟาร์มที่ผ่านการตรวจประเมินและได้รับรอง จะได้รับประกาศนียบัตรและป้ายรับรองฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ

3.สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่เข้าร่วมโครงการ  ต้องได้รับการรับรองปศุสัตว์ OK และจะมีการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ตามที่กำหนดจึงจะสามารถนำตราสัญลักษณ์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ (RAISED WITHOUT ANTIBIOTICS, RWA) ไปติดที่ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากสัตว์ที่เลี้ยงโดยปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ

            ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ คือ

            - เพื่อลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะของภาคปศุสัตว์ของประเทศไทย

            - เพื่อลดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ

            - เพื่อให้ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์มีความตระหนักในการเลี้ยงสัตว์โดยใช้ยาต้านจุลชีพอย่างถูกต้องสมเหตุผล

            - เพื่อให้ผู้บริโภคมีช่องทางในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่ได้จากสัตว์ที่เลี้ยงโดยปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ

            - สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าปศุสัตว์จากผู้ประกอบการสถานที่จำหน่ายที่เข้าร่วมโครงการฯ

            สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ  “การเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะในระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์” ในครั้งนี้  กรมปศุสัตว์ ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์และผู้ประกอบการสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์      มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และมีความยั่งยืนสามารถขยายผลไปยังผู้ประกอบการรายอื่น ๆ โดยกรมปศุสัตว์จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และกำกับดูแล ช่วยเหลือในการดำเนินการ  ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์มีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่เลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด  ผู้ประกอบการสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์มีความยินดีที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มาจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองฟาร์มปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด

            อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยในความสำเร็จที่ทำให้การเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงสัตว์นั้น คือ การจัดการฟาร์มที่ดีภายใต้มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ มีการปฏิบัติตามความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) มีสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มเป็นผู้กำกับดูแลสุขภาพสัตว์ ตลอดจนมีทางเลือกอื่น ๆ ที่ใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะ เช่น สมุนไพร Probiotic Prebiotic ชีววัตถุสำหรับสัตว์ เป็นต้น

 

  

*******************************************

 

 

ข้อมูล/ข่าว : กองควบคุมอาหารและยาสัตว์  กรมปศุสัตว์

เผยแพร่ :  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์  สำนักงานเลขานุการกรม