การคัดเลือกเกษตรกรด้านปศุสัตว์ประจำปี 2561 ที่ได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ (เลี้ยงแพะเนื้อและไก่ไข่) คือ นายมูฮำมัดกาแมล เจะมะ อายุ 41 ปี บ้านเลขที่ 17 หมู่ที่ 6 ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน ของ นายมูฮำมัดกาแมล เจะมะ ซึ่งจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จังหวัดปัตตานีและได้รับประกาศนียบัตรคอมพิวเตอร์จากประเทศมาเลเซีย เดิมประกอบอาชีพค้าขายจานดาวเทียมและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แต่มีใจรักและอยากจะประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงสัตว์ และในปี 2554 ผู้เป็นพ่อได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ กิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงแพะ ทำให้มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังและเข้ารับการอบรมจากหน่วยงานปศุสัตว์แทนผู้เป็นพ่อ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนพันธุ์แพะ จำนวน 8 ตัว จากโครงการฯ ซึ่งผู้เป็นพ่อได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้เลี้ยงแทน ในเดือนแรกแพะที่เลี้ยงประสบปัญหาสุขภาพไม่แข็งแรงทำให้แพะตาย 4 ตัว เหลือแพะอีกจำนวน 4 ตัว (เพศผู้ จำนวน 1 ตัว และเพศเมีย จำนวน 3 ตัว) จึงได้พยายามศึกษาหาความรู้ด้านการเลี้ยงแพะเพิ่มขึ้นและได้เข้ารับการอบรมการเลี้ยงแพะจนประสบความสำเร็จ แพะที่เลี้ยงสามารถให้ผลผลิตจากแม่พันธุ์ 3 ตัว รวม 18 ตัว ภายในระยะเวลาประมาณ 2 - 3 ปี จึงเล็งเห็นว่าการเลี้ยงแพะให้ผลผลิตได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับแพะเป็นสัตว์ ขี้เล่น เลี้ยงแล้วมีความสุขและการเลี้ยงแพะทำให้ผ่อนคลายไม่มีอารมณ์เครียดที่เกิดจากงานประจำในการทำธุรกิจจานดาวเทียมและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จึงได้เลี้ยงแพะอย่างจริงจัง โดยลงทุนซื้อแพะมาเลี้ยงทำให้ได้ผลผลิต เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้โรงเรือนที่มีอยู่คับแคบ การจัดการดูแลไม่ค่อยสะดวก จึงตัดสินใจลงทุนก่อสร้างโรงเรือนใหม่ จำนวน 1 หลัง ขนาด 8 x 16 เมตร ด้วยทุนของตนเอง สร้างโรงเรือนโดยอาศัยหลักการ ง่าย สะดวก และปลอดภัย จะต้องปลอดภัยทั้งแพะและคนเลี้ยง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2557 ด้วยความตั้งใจจึงได้รับการพิจารณาจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอบาเจาะให้เข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 1 ฟาร์ม 1 ตำบล โดยได้รับปัจจัยการผลิตจากโครงการเป็นพ่อพันธุ์แพะ จำนวน 1 ตัว และแม่พันธุ์แพะ จำนวน 10 ตัว ปัจจุบันมีแพะ จำนวน 57 ตัว
นอกจากการเลี้ยงแพะยังมีแนวคิดในการดำเนินกิจกรรมด้านปศุสัตว์เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความหลากหลายของชนิดสัตว์และเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว จึงเริ่มศึกษาอาชีพด้านปศุสัตว์อื่น โดยเฉพาะการเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากความต้องการบริโภคไข่ไก่ในพื้นที่และจากข้อมูลที่ได้ศึกษา พบว่า ไข่ไก่เป็นที่นิยมบริโภคและตรงตามความต้องการของท้องตลาด จึงได้รวบรวมเงินทุนที่มีสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ ขนาดประมาณ 6 X 18 เมตร ปัจจุบันเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 1,000 ตัว ทำให้มีรายได้เป็นรายวัน เพื่อเลี้ยงครอบครัว ความสำเร็จในการเลี้ยงแพะทำให้ได้รับรางวัล อาทิ รางวัลชนะเลิศการประกวดแพะพันธุ์ลูกผสม เพศผู้ ฟันแท้มากกว่า 1 คู่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 แพะพันธุ์บอ เพศเมีย ฟันแท้ไม่เกิน 1 คู่ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 แพะพันธุ์บอเพศผู้ ฟันแท้ไม่เกิน 1 คู่
ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ประเภทแพะเนื้อของ นายมูฮำมัดกาแมล เจะมะ ประสบความสำเร็จในการพัฒนา ด้านพันธุ์สัตว์ เริ่มต้นเลี้ยงแพะเพียง 8 ตัว จากนั้นได้มีการคัดเลือกสายพันธุ์ ปัจจุบันมีแพะ 57 ตัว โดยเลือกสายพันธุ์แท้ 100 % ดูจากลักษณะรูปร่างที่มีขนาดใหญ่ ลำตัวยาวและกว้างมีกล้ามเนื้อ แพะที่เลี้ยงภายในฟาร์มเป็นแพะสายพันธุ์แท้ อาทิ พันธุ์บอ ลักษณะเด่น คือ ขนาดรูปร่างใหญ่ ล่ำสัน มีลำตัวใหญ่ ยาวและกว้าง มีกล้ามเนื้อมาก และมีลักษณะของกระดูกโครงร่างใหญ่แข็งแรง อัตราการเจริญเติบโตดีเหมาะสำหรับเป็นพ่อพันธุ์ พันธุ์ลูกผสมแองโกลนูเบียน ลักษณะเด่น คือ ตัวใหญ่ ลำตัวกว้าง อัตราการตายต่ำเป็นแพะที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ด้านการจัดการอาหารสัตว์ จะให้อาหารแพะวันละ 2 ครั้ง ประกอบด้วย หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 วันละ 150 กก. /แพะ 57 ตัว และให้อาหาร TMR ผสมเอง โดยใช้วัตถุดิบง่าย ๆ และราคาถูก เช่น กากปาล์ม ผิวถั่ว ข้าวโพดบด รำข้าว และน้ำ ให้กิน 150 กรัม/ตัว แต่ถ้าเป็นลูกแพะอายุ 2 – 6 เดือน เสริมด้วยอาหารข้น 200 กรัม/ตัว เพื่อให้แพะโตเร็วและมีสุขภาพดี นอกจากนี้ยังได้ปลูกหญ้าในพื้นที่ 10 ไร่ สำหรับแพะในฟาร์ม ด้านการจัดการฟาร์ม โรงเรือนยกสูงจากพื้นประมาณ 2 เมตร เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี พื้นโรงเรือนฉาบด้วยปูนเพื่อให้ง่ายต่อการปัดกวาดมูลแพะและง่ายต่อการทำความสะอาด ภายในโรงเรือนแบ่งเป็นห้อง ๆ (คอกแพะน็อคน์ดาว) ให้แพะได้อยู่สบาย โดยโรงเรือนสามารถปรับขนาดหรือลดขนาดคอก ได้ตามอายุของแพะที่เลี้ยง และบริเวณรางให้อาหารแพะสามารถดึงออกเพื่อทำความสะอาดได้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมเฉพาะของฟาร์ม สิ่งสำคัญในการเลี้ยงแพะ คือ การทำความสะอาดคอก จะทำความสะอาดทุกวัน กวาดมูลแพะได้ประมาณวันละ 1 – 2 กระสอบ และนำไปเป็นปุ๋ยใส่แปลงหญ้า พืชผักผลไม้ โดยผ่านขบวนการหมักทำเป็นปุ๋ยเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ด้านการดูแลสุขภาพสัตว์ มีการทำวัคซีนและเจาะเลือดประจำตามกำหนดเพื่อให้มั่นใจว่าปราศจากโรค โดยได้รับการรับรองฟาร์มเป็นฟาร์มปลอดโรคบลูเซลลูซิส ระดับ B การดูแลรักษาสุขภาพจะมีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เป็นที่ปรึกษา ส่วนการดูแลรักษาสุขภาพแพะเบื้องต้นสามารถดำเนินการเองได้ ด้านการตลาด จำหน่ายแพะมีชีวิต พ่อแม่พันธุ์ และแพะสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งสร้างเครือข่ายกับเกษตรกรรายอื่น ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้สร้างโรงเรือนแพะสำหรับเป็นศูนย์กลาง ในการซื้อขายพันธุ์แพะสำหรับเกษตรกรในอำเภอบาเจาะ และมีการประชาสัมพันธ์โดยการใช้เทคโนโลยี ผ่านช่องทาง Fackbook โดยใช้ชื่อโปรไฟล์ มูฮำมัดกาแมล เจะมะ และจากการที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งอยู่ใกล้ประเทศมาเลเซียทำให้สามารถค้าขายแพะได้สะดวก
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงาน ความสำเร็จและความยั่งยืนในอาชีพ นายมูฮำมัดกาแมล เจะมะ ได้เรียนรู้และ มีประสบการณ์ด้านการเลี้ยงแพะ มีแนวคิดและหลักปฏิบัติในการประกอบอาชีพที่มีการอนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาความสมดุลตามธรรมชาติ คนสัตว์อยู่ร่วมกันมีความสุข เกื้อกูลซึ่งกันและกันใช้ทรัพยากรที่มีอยู่คุ้มค่าและ เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยนำมูลแพะและขี้แกลบจากการเลี้ยงไก่ไข่ผ่านขบวนการหมักเพื่อเพิ่มคุณภาพนำไปใส่ผัก ผลไม้ แทนการใช้ปุ๋ยเคมี และเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรในท้องถิ่นนำไปปฏิบัติ เลี้ยงแพะแบบปลอดสารเคมี เน้นการจัดการฟาร์มและการสุขาภิบาลที่ดี โดยยึดหลักการออกแบบสร้างโรงเรือนที่ให้ความสะดวก รวดเร็วประหยัดเวลาและง่ายต่อการปฏิบัติงานให้ความปลอดภัย ทั้งคนและแพะ ไม่มีกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้าน ปรับปรุงพื้นที่ดินทรายที่มีคุณภาพต่ำให้สามารถปลูกพืชอาหารสัตว์ได้ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุดไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การนำต้นกล้วย มาเป็นอาหารเสริมให้ไก่ไข่
“ นายมูฮำมัดกาแมล เจะมะ เป็นบุคคลที่มีวิสัยทัศน์ มีความเป็นผู้นำ พร้อมที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ และเสียสละเพื่อส่วนรวมหลายด้าน อาทิ แบ่งปันแพะให้แก่เกษตรกรที่มีความสนใจแต่ไม่มีเงินลงทุน ช่วยเหลือเกษตรกรที่มีปัญหาเรื่องอาหารสัตว์โดยให้ไปตัดหญ้าในแปลงพืชอาหารสัตว์ของตนเอง ยาถ่ายพยาธิ แร่ธาตุก้อน บริจาคแพะและไข่ไก่ที่เลี้ยงให้แก่เพื่อนบ้าน และมัสยิด เพื่อประกอบอาหารในงานบุญต่าง ๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์ โดยให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจในด้านการเลี้ยงแพะ และเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นประธานเครือข่ายแพะ - แกะ ระดับจังหวัด เป็นนายทะเบียนเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะจังหวัดนราธิวาส ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของกรมปศุสัตว์จัดทำฟาร์มปลอดโรคเป็นประจำทุกปี ฯลฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มโครงการพิเศษ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ โทร. 0 – 2653 – 4477 ” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
*********************************************
ข้อมูล : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
ข่าว : พิจารณา สามนจิตติ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม