นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดี กรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ของทุกปีเป็นช่วงฤดูที่สับปะรดออกสู่ตลาดมากที่สุด พบว่าในปี 2561 จะมีผลสับปะรดสดออกสู่ตลาดประมาณ 2.46 ล้านตัน มากกว่าปีที่แล้วถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีความต้องการบริโภค และเพื่อการส่งออกสับปะรดปีละไม่เกิน 2 ล้านตันต่อปี จึงมีผลผลิตเกินความต้องการ ประกอบกับมีสับปะรดที่ไม่ได้มาตรฐาน มีผลขนาดเล็ก เนื่องจากกระทบแล้ง และโรงานไม่รับซื้ออีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิต ซึ่งเกษตรกรจำหน่ายในราคา 0.80 – 1.00 บาทต่อกิโลกรัม จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาสับปะรดโรงงานขณะนี้มีราคาตกต่ำ สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลสับปะรดสดที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากใช้แปรรูปเป็นสับปะรดกวนแล้วสามารถนำมาใช้เลี้ยงโคเนื้อ และโคนมได้เป็นอย่างดี โดยเก็บถนอมไว้ในรูปสับปะรดหมัก แต่ผลสับปะรดสดมีวัตถุแห้งต่ำมากประมาณ 10 - 12 เปอร์เซ็นต์ มีความชื้นสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เหมาะสำหรับการหมัก จึงต้องเติมวัสดุบางชนิด เพื่อเพิ่มวัตถุแห้ง เช่น ฟางข้าวสับ เพื่อปรับให้วัตถุแห้งอยู่ที่ระดับ 35-40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสภาพการหมักที่ดี และเป็นการเพิ่มเยื่อใยในอาหารให้มีเพียงพอสำหรับโคนมอีกด้วย ดังนั้น กรมปศุสัตว์ โดยสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ ได้ร่วมมือกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์สหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค อ่าวน้อย จำกัด แก้ปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ โดยดำเนินโครงการนำร่องแปรรูปสับปะรดเพื่อเป็นอาหารสัตว์เพื่อเป็นอาหารโคนม นอกจากนี้ ได้ดำเนินการผลิตอาหารทีเอ็มอาร์จากผลสับปะรด เพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดกำแพงแสน จำนวนทั้งสิ้น 30 ตัน ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา
ส่วนวิธีการแปรรูปสับปะรดเป็นอาหารสัตว์ นั้น ให้นำสับปะรด 650 กิโลกรัม และฟางข้าว 350 กิโลกรัม ใส่เครื่องผสมอาหาร TMR เพื่อหั่นและคลุกเคล้าให้เข้ากัน นำมาใส่ถังหรือถุงและไล่อากาศออกให้มากที่สุด ปิดฝาถังหรือมัดปากถุงให้สนิท ไม่ให้อากาศภายนอกเข้าไป หมักทิ้งไว้ 14-21 วัน สามารนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น โคเนื้อ โคนม แพะ และแกะ ได้เป็นอย่างดี และคิดเป็นต้นทุนเปลือกสับปะรดหมักฟางเท่ากับ 2.00 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมี “โครงการรับซื้อสับปะรดคัดทิ้งเพื่อแปรรูปเป็นอาหารทีเอ็มอาร์ สำหรับโคนม” สนับสนุนโดย
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ภายใต้งบประมาณกลางปี 2561 (ไทยนิยมยั่งยืน) ให้สหกรณ์ฯ เป็นศูนย์รับซื้อ-แปรรูป และจำหน่ายอาหารทีเอ็มอาร์ให้แก่สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรผู้สนใจ โดยสนับสนุนเงินกู้ จำนวน 4,000,000 บาท อีกด้วย หากเกษตรกรท่านใดสนใจ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร.02-5011147 นายสัตวแพทยสรวิศ กล่าวในที่สุด
************************************************
ข้อมูล : สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ ข่าว : น.ส.เพ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ