กรมปศุสัตว์แนะนำเกษตรกรให้ดูแลสุขภาพสัตว์ปีกในช่วงฤดูฝนเป็นพิเศษ เหตุฝนตกชุกทำอากาศเปลี่ยนจากร้อนเป็นร้อนชื้น ส่งผลให้สัตว์อาจเกิดความเครียดกระทบกับสุขภาพสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝูงสัตว์ที่เลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ ที่อ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่าย เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากรายงานพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนในปี 2561 อย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกชุกต่อเนื่องเกือบทั่วไปประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในฤดูกาลนี้ ทำให้มีความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดในสัตว์ปีกเพิ่มขึ้น ดังนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกควรเฝ้าระวังดูแลสุขภาพสัตว์อย่างใกล้ชิด แนะนำให้ทำเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกที่มีรั้วปิดมิดชิด ป้องกันลม ฝน นกธรรมชาติ สัตว์พาหะ อีกทั้งมีการทำลายเชื้อโรคอย่างถูกวิธี จัดเตรียมน้ำสะอาด อาหาร ยาและเวชภัณฑ์ให้พร้อม ตัดแต่งกิ่งต้นไม้เพื่อไม่ให้หักโค่นมาทำความเสียหายแก่โรงเรือน และป้องกันอาหารสัตว์จากความเปียกชื้น เพิ่มวัสดุรองนอนที่ให้ความอบอุ่นแก่สัตว์ หากอากาศเปลี่ยนแปลงมากอาจพิจารณาละลายวิตามินให้สัตว์กิน 3 วันติดต่อกันเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน กรณีจะนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงในฝูงควรตรวจสอบประวัติ และผ่านการทดสอบโรคก่อน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่สำคัญในสัตว์ปีก

          “กรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทั่วประเทศลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรเพื่อให้คำแนะนำและความรู้ด้านการป้องกันโรค การดูแลสุขภาพ การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง ตลอดจนค้นหาสัตว์ป่วย หรือตายที่มีอาการคล้ายโรคระบาดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” รักษาการอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวและว่า

          จากรายงานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ในปี 2561 ยังคงพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศแถบอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กัมพูชาและเวียดนาม โดยพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่จังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา (วันที่ 28 มีนาคม 2561) ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเข้มงวดกับการป้องกันโรคดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยง ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้สัตว์ปีกปรับสภาพไม่ทันทำให้ร่างกายอ่อนแอ ซึ่งอาจสร้างความสูญเสียให้กับเกษตรกรได้ กรมปศุสัตว์จึงขอความร่วมมือเกษตรกรเตรียมความพร้อมและหาทางป้องกันดังกล่าวข้างต้น หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ห้ามทิ้งซากสัตว์ปีกลงแหล่งน้ำหรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด และให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ให้เข้าควบคุมป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที

          ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 096-301-1946.

***************************************

ข้อมูล: กลุ่มควบคุมป้องกันโรคสัตว์ปีก สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์