วันนี้(วันที่ 8 มิถุนายน 2561) นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการแปรรูปผลสับปะรด เป็นอาหารสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาสับปะรดล้นตลาด ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยผู้บริหาร และข้าราชการในสังกัดกรมปศุสัตว์ให้การต้อนรับ
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงที่มาของโครงการแปรรูปผลสับปะรด เป็นอาหารสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาสับปะรดล้นตลาด ว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ของทุกปีเป็นช่วงฤดูที่สับปะรดออกสู่ตลาดมากที่สุด ซึ่งผลผลิตสับปะรดจะออกสู่ตลาด 2.24 ล้านตัน แต่ความต้องการสับปะรดสำหรับบริโภคภายในประเทศ และส่งออกนั้น ไม่เกิน 2 ล้านตัน ดังนั้น จึงมีสับปะรดล้นตลาด 0.24 ล้านตัน จึงเป็นสาเหตุทำให้ราคาสับปะรดตกต่ำ นอกจากนี้ยังมีสับปะรดไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ขนาดผลเล็ก โรงงานสับปะรดไม่รับซื้อ 0.23 ล้านตัน ในพื้นที่ 3 จังหวัด จึงมีผลผลิตสับปะรดรวมทั้งสิ้น 1,193,240 ตัน คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของสับปะรดทั้งประเทศ แบ่งเป็น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 908,385 ตัน จังหวัดระยอง 231,781 ตัน และจังหวัดลำปาง 53,074 ตัน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัดข้างต้น โดยการนำสับปะรดที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของโรงงาน มาผลิตเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งโครงการนำร่องนั้น จะมีสับปะรดที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของโรงงานจำนวน 238,648 ตัน (ร้อยละ 20) คิดเป็นมูลค่า 238,648,000 บาท ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยได้ 20 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นจำนวน 47,729 ตัน โดยให้สหกรณ์โคนมในพื้นที่รับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 1 บาท เพื่อผลิตอาหารทีเอ็มอาร์และจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์ฯ ซึ่งสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค อ่าวน้อย จำกัด ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 4,000,000 บาท เป็นเงินหมุนเวียนในการผลิตอาหารจำนวน 1,000 ตัน (โครงการนำร่องฯ) จำหน่ายให้สมาชิกในราคากิโลกรัมละ 3.90 บาท นอกจากนี้ในพื้นที่ที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน ได้แก่ จังหวัดระยองมีการดำเนินงานโครงการนำร่อง เช่นกัน โดยมีสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด เป็นหน่วยงานหลักในโครงการนำร่อง และในพื้นที่จังหวัดลำปางก็มีการดำเนินการเช่นกัน
ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า การเลี้ยงโคนมของเกษตรกรด้วยสับปะรดกับฟางข้าวเสริมอาหารข้นนั้น จะมีต้นทุนค่าอาหารตัวละ 102.50 บาท ให้น้ำนมวันละ 12 กิโลกรัม คิดเป็นต้นทุนค่าอาหาร 8.54 บาทต่อน้ำนม 1 กิโลกรัม ถ้าเลี้ยงด้วยอาหารทีเอ็มอาร์ที่มีสับปะรดกับฟางข้าว จะมีต้นทุนตัวละ 117 บาท ให้น้ำนมวันละ 14 กิโลกรัม มีต้นทุนค่าอาหาร 8.35 บาทต่อน้ำนม 1 กิโลกรัม จะสามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้ 0.20 บาทต่อน้ำนม 1 กิโลกรัม ซึ่งการผลิตอาหารทีเอ็มอาร์สำหรับโคนม โปรตีน 16 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 1 ตัน นั้น ประกอบด้วย ผลสับปะรดสด 710 กิโลกรัม ฟางข้าว 140 กิโลกรัม 7.3 กากถั่วเหลือง 66.5 กิโลกรัม กากเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมัน 80 กิโลกรัม ปุ๋ยยูเรีย 3.5 กิโลกรัม ใส่เครื่องผสมอาหาร TMR เพื่อหั่นฟางและคลุกเคล้าวัตถุดิบทั้งหมดให้เข้ากัน บรรจุถุงและ ปิดปากถุงให้สนิท หมักไว้ 7 วัน สามารนำไปใช้เลี้ยงโคนม ต่อไป
***********************************
ข้อมูล : สำนักพัฒนาอาหารสัตว์
ข่าว : นางสาวจิรภา วงษ์ศุข นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเลขานุการกรม