นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชื่นชมความสำเร็จ ”นมคุณภาพสูงล้านนา” (Lanna High Quality Milk) และ ระบบก๊าซชีวภาพและการผลิตพลังงานทดแทน
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการโครงการ ”นมคุณภาพสูงล้านนา” (Lanna High Quality Milk) ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ การพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสินค้าเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร ให้เพียงพอต่อความต้องการและมีมูลค่าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น โดยที่ กรมปศุสัตว์จะให้คำแนะนำการพัฒนาตั้งแต่ระบบฟาร์มของเกษตรกรในพื้นที่ ไปกำกับดูแลให้มีมาตรฐานฟาร์ม ดูแลคุณภาพของน้ำนม พัฒนาคุณภาพการเลี้ยง การบริหารจัดการอย่างไร จึงจะได้น้ำนมคุณภาพที่ดี และไปสู่การแปรรูปว่าทำอย่างไรให้คุณภาพน้ำนมที่ดีเมื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปแล้วดียิ่งขึ้น รวมถึงการหาสถานที่จำหน่ายให้ คือกรมปศุสัตว์จะเป็นพี่เลี้ยงทุกขั้นตอนให้แก่เกษตรและผู้ประกอบการ และยังถือเป็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนกลุ่ม 1 ในประเด็นยุทธศาสตร์การส่งเสริมการสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้โดดเด่นและมีคุณค่าฯ โดยการขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดสินค้าภาคปศุสัตว์ที่มีความโดดเด่น คือ โคนมและผลิตภัณฑ์นม ภายใต้จุดเด่นและโอกาสของลักษณะพื้นที่และภูมิอากาศพื้นที่ที่เป็นที่สูงและมีอากาศเย็นตลอดปี เหมาะสมต่อการเลี้ยงโคนม ทั้งมีความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ ที่เอื้อต่อการผลิตอาหารหยาบคุณภาพดี ส่งผลให้น้ำนมโคในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีคุณภาพดี มีเสถียรภาพทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งมีความพร้อมด้านการผลิต การแปรรูปและด้านการตลาด เกษตรกรในพื้นที่สามารถผลิตน้ำนมดิบได้เฉลี่ยวันละ 380 ตันต่อวัน ( สิงหาคม 2561 ) มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า 2,600 ล้านบาทต่อปี
การตรวจเยี่ยมชมกิจการของบริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ทำให้พบว่า ผู้ประกอบการ ฟาร์มโคนมมีความสามารถที่จะผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพแล้ว ในการดำเนินการฟาร์มยังสามารถนำของเสียภายในฟาร์มมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ซึ่งจะช่วยให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหามลพิษ และเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ ด้วยการลดต้นทุนจากการใช้พลังงานทดแทน โดยโค 2,000 ตัว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ผลิตเป็นก๊าซชีวภาพได้ 1,700 ลบ.ม/วัน ผลิตพลังงานไฟฟ้า ได้ 2,550 กิโลวัตต์ชั่วโมง/วัน รวมทั้งนำไปทำก๊าซไบโอมีเทนอัด แทนก๊าซ NGV ได้ 200 กิโลกรัม/วัน นอกจากนี้กากมูลโคยังสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับแปลงพืชอาหารสัตว์และพืชเศรษฐกิจอื่นๆได้อีก ซึ่งเป็นผลการวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฟาร์มโคนมของ บริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์ ยังเป็นฟาร์มที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการดำเนินการตั้งแต่การเลี้ยง การรีดนม การควบคุมคุณภาพการผลิต ตลอดจนการตรวจสอบย้อนกลับ
นายลักษณ์ วจนานวัช กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเยี่ยมชมผลการดำเนินกิจการ ของบริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัดแล้วได้เดินทางไปเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของ สหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัด อ.สารภี จังหวัดเชียงใหม่เพื่อเยี่ยมชมให้ขวัญกำลังใจ การสร้างความเข็มแข็งในการรวมกลุ่มและเยี่ยมชมกระบวนการผลิตนมพาสเจอไรซ์ และนมยูเอชที ทั้งนี้ สหกรณ์โคนมเชียงใหม่ได้จดทะเบียนตั้งแต่ ปีพ.ศ.2517 มีการก่อสร้างโรงงานแปรรูปนมพาสเจอไรซ์ เมื่อปีพ.ศ.2534 กำลังการผลิต 12 ตันต่อวัน ส่วนโรงานแปรรูปนมยูเอชที สร้างเมื่อปี พ.ศ.2553 กำลังการผลิต 5 ตันต่อวัน ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกผู้เลี้ยงโคนม จำนวน 144 ราย จำนวนฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐานฟาร์มโคนม(GAP) จำนวน 98 ฟาร์ม คิดเป็นร้อยละ 68 โคนมทั้งหมด 4,652 ตัว มีแม่โครีดนม 2,386 ตัว ปริมาณน้ำนมดิบเฉลี่ย 29.68 ตันต่อวัน(เดือนสิงหาคม 2561) รายได้ต่อปี 515 ล้านบาท จากการดำเนินการผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม ได้แก่ นมพาสเจอไรซ์ นมยูเอชที มีการผลิตทั้งนมพาณิชย์และนมโรงเรียน ซึ่งได้รับโควตา 17.46 ตันต่อวัน ซึ่งมีการจำหน่ายไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แม่ฮ่องสอน พะเยา และตาก นอกจากนี้จำหน่ายนมและผลิตภัณฑ์นมภายใต้ ตราสินค้า”สหกรณ์โคนมเชียงใหม่”ยังมีตราสินค้า”น้ม นม”และเปิดร้านจำหน่ายนม กาแฟ นมเปรี้ยว และไอศกรีมที่สหกรณ์เพื่อเป็นต้นแบบในการเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับสหกรณ์โคนมเชียงใหม่
นายอำพันธ์ เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่และพะเยา มีประชากรโคนมทั้งหมด 72,435 ตัว โดยมีโครีดนม จำนวน 30,708 ตัว กรมปศุสัตว์ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาให้ได้มาตรฐานฟาร์ม (GAP) เพื่อยกระดับการจัดการเลี้ยงโคนมแบบมืออาชีพ สามารถผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ ปลอดโรคและปลอดภัยต่อการบริโภค โดยจัดทำโครงการนมคุณภาพสูงล้านนา สามารถสร้างตราสัญญลักษณ์”นมคุณภาพสูงล้านนา” มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 243 ราย และผู้ประกอบการ 4 ราย สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร 204,000บาทต่อฟาร์มต่อปีและได้รับรางวัลดีเด่น(รางวัลเลิศรัฐ) ในสาขาการบริการภาครัฐจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) ในปี 2560 นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกร รวมกลุ่มหรือสร้างเครือข่าย ในการจัดทำแปลงใหญ่โคนม เพื่อผลิตฝูงโคนมทดแทน มีการผลิดแปลงหญ้าหรืออาหารสัตว์แบบผสม (TMR) เพื่อลดต้นทุนการผลิตรวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมเพื่อสร้าง แบรนด์ (Branding) และสร้างมูลค่าเพิ่มของนมและผลิตภัณฑ์นมเพื่อรองรับการค้าเสรี (FTA) ในอนาคต สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของประเทศไทยในตลาดโลก
………………………………………………..
ข้อมูล/ข่าว : สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 กรมปศุสัตว์
เผยแพร่ : สำนักงานเลขานุการกรม