ช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลให้ปศุสัตว์ อาทิ โค กระบือ แพะ แกะ สุกร เป็ด ไก่ ได้รับผลกระทบสัตว์เจ็บป่วย ควรสร้างภูมิคุ้มกันให้สัตว์ เพราะสัตว์ต้องได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ด้วยการฉีดวัคซีนตามโปรแกรมที่กำหนด ให้ความสำคัญกับการดูแลปศุสัตว์ของตนให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง มีการจัดเตรียมน้ำ อาหาร ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อม เพื่อเสริมสร้างสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง และที่สำคัญต้องพ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง เข้าและออกบริเวณฟาร์ม และโรงเรือน มีที่บังแดด บังฝน เลือกซื้อสัตว์ที่มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และกักสัตว์ก่อนนำเข้ารวมฝูง

                นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ว่า ควรหมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตนอย่างใกล้ชิด โดยสามารถสังเกตอาการสัตว์ป่วยได้ง่ายๆ อาทิ สัตว์จะเริ่มแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร กินน้อยลงหรือบางตัวอาจไม่ยอมกินเลย ถ้าเป็นโค - กระบือ มักจะไม่มีการเคี้ยวเอื้อง ที่ปากอาจมีน้ำลายไหลยืดมากกว่าปกติ นัยน์ตาขุ่นมัว หรืออาจพบมีน้ำตาหรือขี้ตามากผิดปกติ จมูกเปียกแฉะหรือแห้งผิดปกติ จาม ไอ หายใจหอบ หรือหายใจแรงผิดปกติ อาจพบอุจจาระหรือปัสสาวะที่ผิดปกติ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ขนหรือผิวหนังหยาบกร้าน หนังไม่สั่นไล่แมลง ท่าทางการยืน การเดิน หรือการนอนผิดปกติ หากพบอาการผิดปกติดังกล่าว ควรแยกออกจากฝูงและตรวจเบื้องต้นทันที อาทิ เปิดปากดูเยื่อบุว่ามีสีแดงหรือซีด หรือเม็ดตุ่มเกิดขึ้นหรือไม่ เยื่อบุตาแดงหรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่ จมูกมีน้ำมูกใสหรือข้นเหนียว อุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือก้อนแข็งมีเลือดปน ปัสสาวะสีเหลืองเข้มหรือสีแดง และควรตรวจดูบาดแผลตามร่างกาย ขา กีบ หากพบสิ่งผิดปกติควรปรึกษาสัตวแพทย์ หรือสงสัยว่าเป็นโรคระบาด ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์  

                โรคที่ควรระวังในช่วงนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลง มีลมแรง ความชื้น เชื้อโรคสามารถกระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สัตว์ติดเชื้อโรคได้ง่าย เช่น โรคระบบทางเดินหายใจที่สำคัญ ได้แก่ โรคปอดบวม สัตว์จะเริ่มแสดงอาการ ซึม เบื่ออาหาร จมูกแห้ง มีไข้สูง น้ำมูก น้ำตาไหล ไอ หายใจเร็วและถี่ หายใจลำบาก และสัตว์จะแสดงอาการอ้าปากหายใจให้เห็น โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส โรคนี้สามารถทำให้สัตว์ป่วยและตายได้ พบได้กับสัตว์ทุกเพศทุกวัยทุกชนิด ส่วนในสัตว์ปีก นอกจากโรคไข้หวัดนกแล้ว ยังคงต้องระมัดระวังเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ หรือ โรคกล่องเสียงอักเสบในไก่ไข่ สัตว์ปีกป่วยจะแสดงอาการซึม กินอาหารน้อยลง ไอ จาม ไก่ไข่บางตัวมีการสะบัดหัวและพบมีก้อนเลือดออกมาจากปากไก่ สำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องจำพวก โค - กระบือ โรคที่อาจพบในช่วงฤดูฝน ได้แก่ โรคปากและเท้าเปื่อย โรคคอบวม หรือเฮโมยิกเซฟติซีเมีย และโรคท้องอืดที่เกิดจากการกินหญ้าอ่อนหรือพืชตระกูลถั่วจำนวนมาก  

              “การป้องกัน และดูแลสุขภาพสัตว์ช่วงนี้ คือ เกษตรกรควรหมั่นทำความสะอาดคอกทุกวันเพื่อลดการติดเชื้อที่เกิดจากการสะสมภายในคอก ควรมีที่บังแดดบังลม ไม่เลี้ยงสัตว์อย่างแออัด ให้สัตว์ได้รับอาหารและน้ำที่สะอาดอย่างเพียงพอ สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แก่สัตว์ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคและถ่ายพยาธิอยู่เป็นประจำ จะช่วยป้องกันมิให้สัตว์ของเกษตรกรเจ็บป่วยได้ ” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว

                                                              ********************************************

ข้อมูล : กรมปศุสัตว์                                              ข่าว : พิจารณา สามนจิตติ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม