กรมปศุตว์ และสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แจ้งไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลกด้านระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์และเศรษฐศาสตร์ปศุสัตว์ (International Symposium of Veterinary Epidemiology and Economics) ครั้งที่ 15 เพื่อแลกเปลี่ยนมาตรการและผลงานวิจัยการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์และโรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ ระหว่างวันที่ 12-16 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมโรงแรมดิเอมเพรส จังหวัดเชียงใหม่
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 12-16 พฤศจิกายน 2561 นี้ สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรมปศุสัตว์ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการระดับโลกด้านระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์และเศรษฐศาสตร์ปศุสัตว์ (International Symposium of Veterinary Epidemiology and Economics) ครั้งที่ 15 เพื่อแลกเปลี่ยนมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์และโรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ พร้อมถกปัญหาผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากปัญหาโรคระบาดสัตว์ โดยจะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 700 คน จาก 69 ประเทศ โดยนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบให้ นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่า-การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมดังกล่าวในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้นำเสนอผลงานด้านการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์เผยแพร่ ในเวทีระดับโลก งานนี้ถือเป็นอีกงานหนึ่งที่จะเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศ กรมปศุสัตว์ในฐานะหนึ่งในเจ้าภาพหลัก จึงการันตี ความยิ่งใหญ่ อลังการของการจัดงาน และยิ่งปัจจุบันแนวโน้มการเกิดโรคอุบัติใหม่ที่ติดต่อจากสัตว์เพิ่มมากขึ้น เช่น โรคไข้หวัดนก โรคพิษสุนัขบ้า โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร โรคปากและเท้าเปื่อย เป็นต้น ยืนยันการประชุมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยและเกษตรกรอย่างยิ่ง
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะนายกสัตวแพทยสมาคม-แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดประชุมด้านระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์และเศรษฐศาสตร์ปศุสัตว์ หรือ ISVEE ดังกล่าว จะจัดขึ้นเป็นประจำทุก 3 ปี มีการลงคะแนนเสียงโดยสมาชิกเพื่อหมุนเวียนการเป็นประเทศเจ้าภาพ ซึ่งการที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวนี้ นับเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในภูมิภาคเอเชียในรอบ 25 ปี การจัดประชุมครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คณะกรรมาธิการด้านปศุสัตว์ (APHCA) องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) และสถาบันเพื่อการพัฒนาวิจัยปศุสัตว์ (ILRI) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมประชุมหารือแนวทางการพัฒนาปศุสัตว์และการควบคุมโรคระบาดสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร พัฒนามาตรการป้องกันและควบคุมโรคใหม่ๆ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือของนักวิจัยและสัตวแพทย์จากทั่วโลกอีกด้วย
**********************************
ข้อมูล/ข่าว : ทีมงานโฆษกกรมปศุสัตว์