กรมปศุสัตว์ร่วมกับองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดงาน “ภาคปศุสัตว์ร่วมใจ ใส่ใจการใช้ยาปฏิชีวนะ” “Livestock stakeholders handle antibiotics with care” โดยมี นายสัตวแพทย์   สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบใบประกาศนียบัตร “การเลี้ยงสัตว์ปลอดการ   ใช้ยาปฏิชีวนะ” และมีการกล่าวถ้อยแถลงของไตรภาคี (OIE/FAO/WHO) ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมพูลแมน บางกอก คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต  อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การใช้ยาต้านจุลชีพ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ยาปฏิชีวนะ” เป็นยาที่มีความจำเป็นในการรักษาโรค ทั้งในมนุษย์และสัตว์ หากมีการใช้อย่างไม่ถูกต้อง มากเกินความจำเป็น ก็จะก่อให้เกิดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistance) ได้ ซึ่งการดื้อยาต้านจุลชีพ กำลังเป็นประเด็นที่สำคัญด้านการสาธารณสุข และเป็นปัญหามีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม  ประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพและได้มีแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 - 2564 โดยภาคปศุสัตว์มีเป้าหมายที่สำคัญ คือลดการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ลง 30% ภายในปี พ.ศ. 2564 และที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้มีการดำเนินการกำกับดูแลให้มีการใช้ยาอย่างถูกต้องมาโดยตลอด โดยล่าสุดได้มีการออกกฎหมายว่าด้วยอาหารสัตว์ที่ผสมยา (Medicated Feed) ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะจะต้องมีการสั่งใช้ยาโดยสัตวแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ จนถึงมีการลงนามในโครงการพิเศษ “การเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ” (Raised Without Antibiotics; RWA) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 12 - 18 พฤศจิกายน 2561 ทั่วโลกจะมีการจัดงาน “สัปดาห์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างตระหนักรู้ (World Antibiotics Awareness Week; WAAW)” เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาปฏิชีวนะให้มีการใช้ยาอย่างตระหนักรู้ ใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงได้ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศที่เป็นไตรภาคี (Tripartite) ได้แก่ FAO OIE WHO และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดงาน “ภาคปศุสัตว์ร่วมใจ ใส่ใจการใช้ยาปฏิชีวนะ”“Livestock stakeholders handle antibiotics with care” ซึ่งมีการมอบประกาศนียบัตรให้กับเกษตรกรที่ผ่านการรับรองโครงการเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ และให้องค์กรระหว่างประเทศร่วมบรรยายและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนาถึงทิศทางการจัดการดื้อยา และการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยให้มีการใช้เฉพาะที่จำเป็นต้องใช้ ทำให้สามารถลดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพลงได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ มีความปลอดภัย เป็นที่ยอมรับทั้งผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศด้วย

************************************************

ข้อมูล/ข่าว : สพ.ญ. จุฬาพร ศรีหนา กองควบคุมอาหารและยาสัตว์