นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฎา บุญราช พร้อมด้วยอธิบดีกรมปศุสัตว์ และคณะได้เดินทางไปประชุมระดับโลกด้านการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ และการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Second OIE Global Conference on Antimicrobial Resistance and Prudent Use of Antimicrobial Agents in Animal) ณ เมืองมาราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมแบ่งปันข้อมูลด้านการจัดการ และการรับมือความท้าทายการดื้อยาต้านจุลชีพของหน่วยงานที่รับผิดชอบในประเทศไทย ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรจากอีก 10 กว่าประเทศทั่วโลก เช่น เยอรมันนี ญี่ปุ่น นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร นั้น ทั้งนี้เพื่อให้ การทำงานมีความต่อเนื่อง จึงได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม Call to Action on Antimicrobial Resistance ครั้งที่ 2 ณ กรุงอักกรา สาธารณรัฐกานา ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤศจิกายน 2561          

 

ซึ่งจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (General Assembly of the United Nation: UNGA) สมัยที่ 71 (พ.ศ.2559) ที่ประเทศไทยได้สนับสนุนและร่วมรับรองปฏิญญาทางการเมือง เรื่อง การดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance – AMR) โดยมีกลุ่ม Interagency Coordination Group on AMR (IACG) เป็นกลไกการขับเคลื่อนปฏิญญาทางการเมืองดังกล่าว และประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพร่วม (co-host) จัดการประชุม Call to Action on AMR ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 12-13 ตุลาคม 2560 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การประชุม Call to Action on Antimicrobial Resistance ครั้งที่ 2 นี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ ประการแรก เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ทำงานเชิงรุกระดับนโยบาย ทั้งในประเทศจนถึงระดับโลกในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหา AMR และนำเสนอกรณีตัวอย่าง ประการที่สอง เพื่อธำรงรักษาและเสริมสร้างความเข้มแข็ง การขับเคลื่อนงาน AMR ในระดับประเทศและระดับโลกผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม และประการสุดท้าย เพื่อนำเสนอกระบวนการการทำงานของกลุ่มประสานงานหน่วยงานด้านการจัดการเชื้อดื้อยาระหว่างประเทศ (Interagency Coordination Group on AMR : IACG) และผลงานที่ IACG จะส่งมอบและรายงานต่อเลขาธิการสหประชาชาติ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 73 โดยมีเจ้าภาพร่วมซึ่งประกอบด้วย ประเทศไทย สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐกานา มูลนิธิ Wellcome Trust มูลนิธิสหประชาชาติ และธนาคารโลก โดยคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การดื้อยา ต้านจุลชีพ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็น co-host สำหรับจัดการประชุม โดยมีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อธิบดีกรมปศุสัตว์ และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนจากประเทศไทย ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 นั้น เป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวง ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ พร้อมเป้าประสงค์ที่วัดได้ เราคาดว่าภายในปี พ.ศ. 2564 การป่วยจากเชื้อดื้อยาจะลดลงร้อยละ 50 การใช้ยาต้าน จุลชีพสำหรับมนุษย์และสัตว์ลดลงร้อยละ 20 และ 30 ตามลำดับ ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพหลักยุทธศาสตร์ “การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยา และควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง” เช่น เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ กำหนดให้มีการใช้ยาต้านจุลชีพตามใบสั่งสัตวแพทย์ และลดการใช้ยาต้านจุลชีพในฟาร์มปศุสัตว์และประมง โดยมีกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการที่สำคัญ คือ โครงการพิเศษ “การเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ” (Raised Without Antibiotics; RWA) ซึ่งได้มีการลงนามกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561

“ประเทศไทยยืนยันการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ของ OIE ซึ่งสอดคล้องกับแผนดำเนินการระดับโลกตามความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เรื่องการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ สะท้อนความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมแก้ไขปัญหาการการดื้อยาต้านจุลชีพกับนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งเรื่องนี้จะสำเร็จได้ต้องใช้ระยะเวลาและความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกภาคส่วน เรามั่นใจว่าด้วยความเข้าใจและความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป้าหมายที่กำหนดไว้ในการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งมีความซับซ้อนจะบรรลุผลในที่สุด” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

*****************************

ข้อมูล/ข่าว : ทีมงานโฆษกกรมปศุสัตว์