นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พบการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ เชียงราย ลำพูน ลำปาง นครปฐม ระนอง สตูล พังงา สงขลา และพัทลุง กรมปศุสัตว์จึงได้เร่งดำเนินการควบคุมการเคลื่อนย้าย และระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและ เท้าเปื่อยบริเวณรอบจุดเกิดโรค รัศมี 5 กิโลเมตร และรักษาสัตว์ป่วยตามอาการอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งค้นหาสัตว์ป่วยเพิ่มเติมและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีความสำคัญในโค กระบือ แพะ แกะ และสุกร โดยพบว่าโรคนี้สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยการสัมผัสกับสัตว์ป่วย หรือเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนมากับยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ สัตว์ป่วยจะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองหรือแผล บริเวณลิ้น ช่องปาก ริมฝีปาก เต้านมรวมทั้งไรกีบ ส่งผลให้สัตว์มีน้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเดินกะเผลก โดยทั่วไปโรคปากและเท้าเปื่อยมักไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ที่โตเต็มวัยตาย แต่สัตว์อาจตายได้จากภาวการณ์ติดเชื้อแทรกซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดเชื้อแบคทีเรียหรือจากปัจจัยอื่นๆ เนื่องจากสัตว์เบื่ออาหารและอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม โรคนี้อาจสร้างความรุนแรงและเป็นสาเหตุการตายในลูกสัตว์ได้เนื่องจากเชื้อไวรัสทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งลดความสูญเสียของโรคปากและเท้าเปื่อยแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ และสุกร กรมปศุสัตว์จึงกำหนดมาตรการเร่งด่วน โดยเร่งดำเนินการกระจายวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยลงสู่พื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ ก่อนรอบการรณรงค์การฉีดวัคซีนรอบที่ 1/2562 ระหว่างเดือนธันวาคมและมกราคม รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ และศูนย์รับน้ำนมดิบ เพื่อเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้ครอบคลุมประชากรสัตว์ในพื้นที่เสี่ยง พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าสัตว์และซากสัตว์การชะลอการเคลื่อนย้ายโค กระบือ แพะ แกะ เป็นระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 15 ธันวาคม 2561 ในจังหวัดที่มีสถิติการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยเป็นประจำ ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี และชุมพร ยกเว้นกรณีเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าโรงฆ่าสัตว์ รวมทั้งขอความร่วมมือตลาดนัดค้าสัตว์ในพื้นที่ให้งดดำเนินการในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ ยังสั่งการให้เข้มงวดการตรวจอาการในสัตว์ที่จะเคลื่อนย้ายและสัตว์ร่วมฝูง หากพบสัตว์เหล่านั้นแสดงอาการหรือมีรอยโรคของโรคปากและเท้าเปื่อย กรมปศุสัตว์จะดำเนินการระงับการเคลื่อนย้ายโดยทันที นอกจากนี้ มีการจัดชุดเฉพาะกิจระดมทำลายเชื้อโรคในจุดเสี่ยง ได้แก่ ตลาดนัดค้าสัตว์ แหล่งรวมสัตว์ คอกพักสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ สหกรณ์โคนม ศูนย์รับน้ำนมดิบ เป็นต้น รวมทั้งจัดตั้งจุดตรวจเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายในพื้นที่ที่มีรายงานการเกิดโรค พร้อมทั้งกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานของจังหวัดและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด มีการประชุมชี้แจงแนวทางการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยของ กรมปศุสัตว์ให้แก่เกษตรกรสหกรณ์หรือศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และผู้ประกอบการค้าสัตว์และซากสัตว์ รวมทั้ง ขอความร่วมมือเกษตรกรในฟาร์มที่มีการระบาดของโรคในการงดส่งน้ำนม ผสมเทียม และจำหน่ายมูลโคสดด้วย
สำหรับการป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยสำหรับฟาร์มเกษตรกรนั้น สามารถป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์มได้โดย งดนำสัตว์จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเข้ามาเลี้ยงอย่างน้อย 1 เดือน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่โค กระบือ แพะ แกะ อายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ตามรอบรณรงค์ที่กรมปศุสัตว์กำหนด ให้เข้มงวดการจัดการเพื่อป้องกันโรคเข้าฟาร์ม เช่น ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์ม หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเปลี่ยนรองเท้าบูทสำหรับใช้เฉพาะภายในฟาร์ม และเดินผ่านอ่างน้ำยา ฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าโรงเรือน ห้ามยานพาหนะทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่มีการเข้าออกหลายฟาร์ม หรือไปโรงฆ่าสัตว์ ได้แก่ รถรับซื้อสัตว์ รถขนอาหารสัตว์ รถรับซื้อมูลสัตว์ เป็นต้น เข้ามาภายในฟาร์มเด็ดขาด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคและจัดให้รถดังกล่าวอยู่ไกลจากสถานที่เลี้ยงสัตว์มากที่สุด นอกจากนี้ การซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ต้องซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีการระบาดของโรค ประการสุดท้ายคือ ตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์ที่จะนำมาเลี้ยงใหม่และกักสัตว์ก่อนนำมาเลี้ยงรวมฝูง เป็นระยะเวลา 14 วัน
ท้ายที่สุดนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ยกระดับการเลี้ยงสัตว์ให้มีระบบการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (GAP) หรือให้เป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำโรคเข้าสู่ฟาร์มได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ให้สังเกตอาการสัตว์ในฟาร์มอย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือที่ call center 063-225-6888 หรือที่แอปพลิเคชั่น DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือต่อไป