นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานพิธีปล่อยขบวนรถบรรทุกถุงยังชีพปศุสัตว์กว่า 2,100 ชุด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึกในพื้นที่ภาคใต้ ณ ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์ บางกระดี ปทุมธานี ในวันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม 2562 เวลา 17.00 น.

               จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา พายุ “ปาบึก” (PABUK) ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 2 มกราคม 2562 เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ (2 ม.ค.62) พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทย ในช่วงวันที่ 2 – 3 มกราคม 2562 โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ ในช่วงวันที่ 3 – 5 มกราคม 2562 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย โดยมีผลกระทบดังนี้ ในช่วงวันที่ 3 – 4 มกราคม 2562 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณจังหวัดชุมพร   สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล ในช่วงวันที่ 4 – 5 มกราคม 2562 บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างและจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

            นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการ รับมือโดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยด้านปศุสัตว์ตลอด 24 ชม. โดยมีรองอธิบดีกรมปศุสัตว์(รอธ.อำพันธุ์ เวฬุตันติ) เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือภัยพิบัติ(ด้านปศุสัตว์) หรือ War Room ซึ่งมีผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์เป็นเลขานุการ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ผู้อำนวยการกอง/สำนักในส่วนกลางทุกส่วน เป็นคณะทำงาน และให้เริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป กระทั่งเหตุการณ์สงบ เพื่อให้กษตรกรได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและทั่วถึง พร้อมให้รายงานสถานการณ์ทุกวันๆละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ ให้ตั้ง war room ด้านปศุสัตว์ ทุกจังหวัด รวมทั้งเตรียมความพร้อม จุดอพยพสัตว์ ในพื้นที่เสี่ยงภัย ประสานอาสาปศุสัตว์และทีมท้องที่เพื่อชี้เป้า พร้อมรับในทุกสถานการณ์ 162 แห่ง มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 36 หน่วย พร้อมช่วยด้านการรักษาพยาบาลสัตว์ การอพยพเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยง การลำเลียงและขนย้ายเสบียงสัตว์ไปให้ความช่วยเหลือ เตรียมเสบียงสัตว์กว่า 1,915 ตัน ในคลังเสบียงของศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ ทุกแห่งในพื้นที่ประสบเหตุชั้นใน และอีกกว่า 4,221 ตัน ในพื้นที่รอบนอก คน – พาหนะพร้อมในปฏิบัติการ จัดทำถุงยังชีพปศุสัตว์ เบื้องต้น 2,100 ชุด ซึ่งแต่ละชุดประกอบด้วย อาหารสำเร็จรูป ยาและเวชภัณฑ์ สำหรับการช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและให้จัดทำเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอและสามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที

          “   ทั้งนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ทุกหน่วยในพื้นที่เขต 7 8 และ 9 รวม 16 จังหวัดประชาสัมพันธ์และให้การช่วยเหลือเกษตรกรอย่างรวดเร็วเพื่อลดความเสียหาย โดยมีศูนย์ปฏิบัติการในส่วนกลางที่พร้อมประสานสรรพกำลังและเสบียงอาหารสัตว์พร้อมเวชภัณฑ์สัตว์ ลงพื้นที่ประสบภัยได้ทันที ” อธิบดีกล่าว

                  

                                                             ************************************************

ข้อมูล/ข่าว : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เผยแพร่ : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม