นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 เวลา 03.30 น. กรมปศุสัตว์ โดยหน่วยเฉพาะกิจเขต 9 ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานปศุสัตว์เขต 9 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลา ด่านกักกันสัตว์สงขลา และเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยกองร้อยทหารราบที่ 5021 ได้สนธิกำลังเข้าจับกุม ผู้กระทำความผิดกำลังชำแหละซากสุกรจำนวน 3 ตัว สุกรรอชำแหละ จำนวน 4 ตัว และอุปกรณ์การเชือดหมูอยู่ที่โรงฆ่าสัตว์ไม่มีใบอนุญาตฆ่าสัตว์ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และได้นำส่งผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสะเดาดำเนินการ โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 โดยทำการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องโทษตามมาตรา 56 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 โดยทำการฆ่าสัตว์โดยมิได้แจ้งจำนวนสัตว์ที่จะฆ่า แหล่งที่มาของสัตว์ที่จะฆ่า วัน เวลาที่จะฆ่าสัตว์ และชื่อของโรงฆ่าสัตว์ ต้องโทษตามมาตรา 60 ระวางโทษปรับเรียงตามรายตัวของสัตว์ ดังต่อไปนี้ โคหรือกระบือ ตัวละไม่เกินห้าหมื่นบาท แพะ แกะ สุกร หรือนกกระจอกเทศตัวละไม่เกินสองหมื่นบาท ไก่ เป็ด ห่าน ตัวละไม่เกินหนึ่งพันบาท สัตว์อื่น ตัวละไม่เกินสองหมื่นบาท
การดำเนินการเข้าตรวจค้นจับกุมการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยผิดกฎหมายครั้งนี้ เป็นนโยบายสำคัญของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก เนื่องจากเนื้อสัตว์ที่ได้จากการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ที่ไม่ได้รับอนุญาต จะไม่มีการตรวจสอบใดๆ ไม่ทราบแหล่งที่มาของสัตว์ และผ่านกระบวนการฆ่าสัตว์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้เนื้อสัตว์ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีความเสี่ยงในการนำเชื้อโรคระบาดติดต่อไปยังผู้บริโภคได้ เช่น โรคหูดับ (streptococcus suis) โรคท้องร่วงที่เกิดจากเชื้อซัลโมเนลล่า (salmonellosis) โรคพยาธิในระบบทางเดินอาหาร หรืออันตรายจากสารตกค้าง เช่น สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคและอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้การไม่ทราบแหล่งที่มาของสัตว์ที่นำมาฆ่า อาจเป็นสาเหตุการแพร่กระจายของเชื้อโรคระบากสัตว์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอหิวาต์แอฟริกันสุกร (African Swine Fever : ASF)
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงสั่งการ ผู้เกี่ยวข้องเข้มงวดตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ทั่วประเทศ ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะขอความร่วมมือประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบผู้กระทำผิดโปรดแจ้งเบาะแสให้ กรมปศุสัตว์รับทราบ โดยผ่าน Application DLD 4.0 ซึ่งข้อมูลที่ได้รับกรมปศุสัตว์จะเก็บเป็นความลับทางราชการ เพื่อวางแผนเข้าจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
-----------------------------
ข้อมูล : กองสารวัตรและกักกัน ข่าว : เพ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ