กรมปศุสัตว์ คุมเข้มการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ลุยมาตรการเชิงรุก จัดทำระบบคอมพาร์ทเมนต์ปลอด ASF ป้องกันความเสี่ยง-ลดผลกระทบอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทย พร้อมดันการผลิตเนื้อสุกรที่ได้มาตรฐานปลอดภัย ปลอดโรค
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากรายงานการแพร่ระบาดของโรค ASF ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของโรคที่อาจจะเข้ามาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทย จากความรุนแรงของโรคที่ทำให้สุกรป่วยตายเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถส่งออกสุกรหรือผลิตภัณฑ์สุกรไปต่างประเทศได้ กรมปศุสัตว์จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ เร่งคุมเข้มมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการซ้อมแผนรับมือโรคให้กับเจ้าหน้าที่ เกษตรกร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เตรียมความพร้อมให้ทุกภาคส่วนมีความรู้และแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ตลอดจนเปิดช่องทางแจ้งสถานการณ์โรค หากพบสุกรป่วยตายผิดปกติ ล่าสุดได้เสริมมาตรการใหม่ด้วยการจัดทำ “ระบบคอมพาร์ทเมนต์ปลอดโรคอหิวาต์-แอฟริกาในสุกร” อย่างเร่งด่วน ถือเป็นการยกระดับการป้องกันให้เข้มข้นขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
“ระบบคอมพาร์ทเมนต์เป็นข้อกำหนดขององค์การสุขภาพสัตว์โลกหรือ OIE โดยเริ่มจากการประเมินความเสี่ยงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ มีการเฝ้าระวังในฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์ม การจัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับ มีแผนรับมือฉุกเฉินในฟาร์มกรณีเกิดโรค ระบบควบคุมเคลื่อนย้าย และระบบจัดเก็บข้อมูลทั้ ระบบนี้ถือเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อประโยชน์ในการส่งออกสำหรับประเทศที่พบรายงานโรคระบาดที่สำคัญ อาทิ โรคไข้หวัดนก และโรคปากและเท้าเปื่อย” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว
ปัจจุบันกรมปศุสัตว์กำลังดำเนินการจัดทำร่างหลักเกณฑ์ ขั้นตอนการดำเนินการในระบบฯ หลังจากร่างแล้วเสร็จจะมีการประชาพิจารณ์ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงในฟาร์ม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการต่อไป
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวอีกว่า ขอให้เกษตรกรมั่นใจในการดำเนินงานที่เข้มงวดของปศุสัตว์ ในการป้องกันโรคไม่ให้เข้ามาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมสุกรของไทย และขอย้ำให้เกษตรกรร่วมกันยกระดับการเลี้ยงให้มีระบบการป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์มตามมาตรฐาน GAP สำหรับผู้เลี้ยงรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม หรือ GFM และขอให้เกษตรกรเอาใจใส่ดูแลรวมถึงสังเกตสุกรที่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย มีไข้สูง เบื่ออาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดงต่อมาเป็นสีเขียวคล้ำ หรือพบภาวะแท้งในแม่สุกรและมีจำนวนสุกรตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือโทร call center 063-225-6888 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที./
---------------------------------------------------------
ข้อมูล/ข่าว : ทีมงานโฆษกกรมปศุสัตว์