อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้า ปศุสัตว์ ตามโครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

               วันที่ 9 กรกฏาคม 2562 เวลา 10.00 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ โครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ณ ด่านกักกันสัตว์เชียงราย สาขาเชียงแสนอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยมีนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ นายนพพร มหากันธา ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย กล่าวรายบาน นายวิรัตน์ ตันหยง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซีพีเอฟ กล่าวมอบศูนย์และ นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวขอบคุณ โดยมี พลโทฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาค 3 หัวหน้าส่วนราชการกรมปศุสัตว์ หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเชียงรายและเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ร่วมให้การต้อนรับและเป็นสักขีพยาน

             นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคการปศุสัตว์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ กำลังได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของโรคนี้ แต่นับว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ หรือยานพาหนะที่ใช้บรรทุกนำเข้า-นำผ่าน-นำออกประเทศไทย อีกทั้งยังรวมถึงจากผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินำติดตัวเข้ามาซึ่งอาจจะปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ประเทศ และหากพบการระบาดของโรคดังกล่าวจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์ของประเทศไทย รวมทั้ง มีผลกระทบด้านสังคมและความมั่นคงด้านอาหารของประเทศไทยด้วย เนื่องจาก โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) เป็นโรคไวรัสที่ระบาดในสุกรอย่างรุนแรงและรวดเร็ว หากสุกรติดโรคแล้วจะทำให้สุกรตายทุกตัว เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยังไม่มียารักษาที่จำเพาะ รวมถึงเชื้อโรคมีขนาดใหญ่จึงตายยาก ทำให้สามารถทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือซากได้นานหลายเดือนแต่ เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คนผู้บริโภคจึงไม่ต้องวิตกกังวล

               จากการที่ กรมปศุสัตว์มีภารกิจหลักในการดูแลเรื่องสุขภาพสัตว์และผลผลิตด้านปศุสัตว์ของประเทศไทย เพื่อให้ได้ผลผลิตด้านการปศุสัตว์ที่เพียงพอ มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการในการส่งออกไปยังต่างประเทศ กรมปศุสัตว์จึงได้กำหนดมาตรการป้องกันโรค ASF ในสุกรขึ้นเพื่อป้องกันการระบาดเข้าสู่ประเทศไทย และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติให้มาตรการดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย และอนุมัติให้แผนดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคเร่งด่วน ในปีงบประมาณ 2562 โดยกรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรการ ดังนี้

- จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ASF ในสุกร (war room) ทั้งระดับกรมและระดับจังหวัด

-   ประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไปและประชุมชี้แจงเกษตรกรถึงอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากเกิดการระบาดของโรคนี้

-   ตรวจเยี่ยมฟาร์มสุกรทุกฟาร์มและให้คำแนะนำเพื่อปรับระบบการเลี้ยงให้มีระบบป้องกันโรคที่ดี

-   ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวต่างชาติมิให้นำผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ติดตัวเข้ามาประเทศไทย

-   ตรวจสอบและทำลายผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินำติดตัวเข้ามา

-   เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสินค้าปศุสัตว์ที่นำเข้า-นำผ่าน-นำออกตามด่านพรมแดนทุกแห่งของประเทศไทย

-   เตรียมความพร้อมให้มีระบบการทำลายสุกรที่เป็นโรคและซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

และจังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดสุดท้ายจากจังหวัดชายแดน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดเชียงราย และจังหวัดสระแก้ว ที่จัดทำพิธีส่งมอบและเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ตามโครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยการสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งเป็นมาตรการที่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ASF ในสุกรเข้าประเทศ ลดความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรคของยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์เข้าสู่ประเทศไทย อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด

                                            ----------------------------------------------------

ข้อมูล : สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย / กองสารวัตรและกักกันสัตว์

เผยแพร่ข่าว : นางสาวจิรภา วงษ์ศุข นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเลขานุการกรม