วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2562) เวลา 18.00 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้มอบหมายให้ นายสัตวแพทย์สาโรช งามขำ ปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร รักษาการนายสัตวแพทย์ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ลงนามรับมอบเครื่องรีดนมและถังเย็นเก็บน้ำนมดิบของบริษัทโอริออน แมชชีนเนอรี่ จำกัด ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) และบริษัท โอริออน แมชชีนเนอรี่ จำกัด โดยมี Mr.Hiroshi Kawamura, Minister and Deputy Chief of Mission, Embassy of Japan in Thailand (มิสเตอร์ ฮิโรชิ คาวามูระ อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย) Ms.Katsura Miyazaki, Chief Representative Thailand Office of JICA (มิสส์ คัทซูระ มิยาซากิ หัวหน้าคณะผู้แทนองค์การไจก้า ประเทศไทย) Mr. Tetsuro Ohta, President of Orion Machinery Co.,Ltd. (มิสเตอร์ เทสซูโระ โอตะ ประธานบริษัท โอริออน แมชชีนเนอรี่ จำกัด)  Mr. Toru Kaneko, Executive Managing Director of Orion Machinery Co.,Ltd. (มิสเตอร์ โทรุ คาเนโอะ กรรมการผู้จัดการบริษัท โอริออน แมชชีนเนอรี่ จำกัด) คณะผู้แทนบริษัท โอริออน แมชชีนเนอรี่ จำกัด เข้าร่วมงานและเป็นสักขีพยาน  ณ  โรงแรมแกรน์ เซ็นเตอร์พอยท์ เทอร์มินอล 21 กรุงเทพมหานคร

นายสัตวแพทย์สาโรช งามขำ ปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร รักษาการนายสัตวแพทย์ทรงคุณวุฒิ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้ร่วมดำเนินการวิจัยด้านโคนมโดยการสนับสนุนจากองค์การไจก้า ประเทศไทย และบริษัท โอริออน แมชชีนเนอรี่ จำกัด เกี่ยวกับการทำฟาร์มโคนมที่ใช้ระบบรีดนมแบบไปท์ไลน์ (pipe line) และระบบล้างอัตโนมัติ รวมถึงการจัดฟาร์มด้วยระบบซอฟแวร์ (software) ในการเก็บข้อมูล การเก็บรักษาน้ำนมโดยใช้ถังทำความเย็น Cooling tank ในฟาร์มโคนมของไทย จำนวน 3 แห่ง ตั้งอยู่ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ศูนย์วิจัยและพัฒนาโคนมอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ จากความร่วมมือดังกล่าว มีการอบรมให้ความรู้แก่ข้าราชการศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบหรือสหกรณ์ และเกษตรกร ได้เห็นความสำคัญและประโยชน์ต่อการใช้เทคโนโลยีที่จะรองรับการเลี้ยงโคนมในอนาคตของประเทศไทย ซึ่งฟาร์มโคนมจะมีการขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ เกษตรกรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขาดแคลนแรงงาน เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำนมดิบนี้จะช่วยลดเวลาการทำงาน สะดวกมากขึ้น และคุณภาพน้ำนมดีขึ้น ความร่วมมือของ 3 องค์กรในครั้งนี้ จะส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมของประเทศไทยในอนาคตได้เป็นอย่างดี

นายสัตวแพทย์สาโรช กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าโครงการความร่วมมือด้านโคนมซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 และจะสิ้นสุดโครงการในปี 2562 นี้แล้ว กรมปศุสัตว์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์การไจก้า และบริษัท โอริออน แมชชีนเนอรี่ จำกัด จะได้เข้ามาสนับสนุนในโปรเจคอื่นๆ ด้านโคนมอีก เพื่อการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน

*********************************

ข้อมูล : กองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ                                              ข่าว : เพ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ