การคัดเลือกเกษตรกรด้านปศุสัตว์ประจำปี 2563 ที่ได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง สาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ดีเด่นแห่งชาติ (แพะ แกะ โค ไก่พื้นเมือง ห่าน ม้า) คือ นายศักรินทร์ สมัยสง อายุ 43 ปี บ้านเลขที่ 19/1 หมูที่ 2 ตำบลควนพัง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

          นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า นายศักรินทร์ สมัยสง เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ (อาชีพเลี้ยงสัตว์) เริ่มต้นการเลี้ยงสัตว์เมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยเลือกเลี้ยงแพะ คือ แพะพันธุ์ลูกผสมแองโกลนูเบียนพื้นเมือง วัตถุประสงค์เพื่อต้องการนำมูลแพะมาใช้เป็นปุ๋ยในสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อลดต้นทุนจากการซื้อปุ๋ยเคมี เน้นการจัดการฟาร์มและสวนให้เกื้อกูลกัน สามารถนำทุกอย่างในฟาร์มมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้นและความเป็นอยู่ที่ดี โดยการสนับสนุนและร่วมมือกันของบิดามารดาและน้องชาย ถือเป็นการเดินตามรอยพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยมีจุดประสงค์หลัก คือ ต้องการลดต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมัน นำทางปาล์มที่เหลือจากการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อมาในช่วงปลายปีพ.ศ. 2555 จึงได้ตัดสินใจซื้อแพะเนื้อเพิ่ม จำนวน 8 ตัว (สายพันธุ์บอร์ เพศผู้ 2 ตัว เพศเมีย 3 ตัว สายพันธุ์คาราฮารี เรด เพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 2 ตัว) มุ่งเน้นแพะสายพันธุ์ดีเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ ให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยมีปศุสัตว์อำเภอร่อนพิบูลย์เป็นที่ปรึกษา และให้คำแนะนำในด้านเทคนิคการเลี้ยง การป้องกันรักษาโรค และการจัดการด้านต่าง ๆ ภายในฟาร์มมีการพัฒนาสายพันธุ์โดยคัดเลือกแพะที่มีลักษณะดี เก็บไว้ทำพ่อ-แม่พันธุ์ ส่วนแพะตัวไหนมีลักษณะไม่ตรงตามพันธุ์จะถูกคัดออกเพื่อขาย ปัจจุบันมีพ่อ-แม่พันธุ์แพะที่มีระดับสายเลือดสูงของตนเองและได้ปรับปรุงพันธุ์ให้มีคุณภาพเนื้อดี โตเร็ว รวมทั้งได้คิดสูตรอาหารสำหรับเลี้ยงแพะขึ้นมาใช้เองในฟาร์ม พร้อมทั้งได้รับการเข้าฝึกอบรมและศึกษาดูงานจากที่ต่าง ๆ จากหน่วยงานกรมปศุสัตว์ ในปี พ.ศ. 2555 ได้ชักชวนเกษตรกรภายในหมู่บ้านรวมตัวกัน จำนวน 12 คน จัดตั้งกลุ่มชื่อว่า “กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงตำบลควนพัง” จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ใช้ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงตำบลควันพัง” พ.ศ. 2555 ขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มเลี้ยงสัตว์กับกรมปศุสัตว์ และขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่และพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความสนใจ ปัจจุบันได้ขยายผลการเรียนรู้ไปถึงสถาบันการศึกษา โดยมีนักศึกษาจากหลายสถาบันมาศึกษาเรียนรู้ประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์อย่างต่อเนื่อง

          ปี พ.ศ. 2556 เริ่มนำแพะเข้าสนามประกวดต่าง ๆ ได้รับรางวัลมากมายสามารถบ่งบอกได้ถึงคุณภาพของแพะในฟาร์ม เป็นที่รู้จักของสังคมคนเลี้ยงแพะในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มมากขึ้น จากการศึกษาหาความรู้เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคแพะที่เจริญเติบโตช้า มีการปรับปรุงพันธุ์จนได้แพะที่โตเร็วและแข็งแรง แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ ด้านการตลาด สืบเนื่องจากการเกษตรกรหันมาเลี้ยงแพะมากขึ้น การตลาดมีการผันแปรอยู่ตลอดเวลา จึงได้ปรึกษากับสมาชิกในกลุ่มและในพื้นที่ใกล้เคียงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทางชมรมผู้เลี้ยงแพะนครศรีธรรมราช ก็ประสบปัญหาเรื่องการตลาดแพะเช่นกัน จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาด้านการตลาดอย่างเร่งด่วน โดยผันตัวเข้าร่วมประชุมกับชมรมผู้เลี้ยงแพะนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นกระบอกเสียงหนึ่งของคนเลี้ยงแพะตำบลควนพัง จึงได้ร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องการตลาดกับคณะกรรมการชมรมและสมาชิกผู้เลี้ยงแพะจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักและและเป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคมเพิ่มมากขึ้น

          ปี พ.ศ. 2557 นายศักรินทร์ สมัยสง เป็นประธานชมรมผู้เลี้ยงแพะนครศรีธรรมราช จนหมดวาระและปี พ.ศ. 2561 สมาชิกแปลงใหญ่แพะลุ่มน้ำปากพนัง มีมติให้ นายศักรินทร์ สมัยสง เป็นประธานแปลงใหญ่แพะลุ่มน้ำปากพนังจนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา นายศักรินทร์ สมัยสง ได้พยายามปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์แพะและได้จัดส่งแพะเข้าประกวดทุกครั้งที่มีกิจกรรมในพื้นที่ภาคใต้ และพื้นที่ภาคกลาง โดยเห็นผลสำเร็จจากการพัฒนาสายพันธุ์ ได้จากโล่รางวัล ถ้วยรางวัล และประกาศเกียรติบัตรมากมาย เป็นสิ่งช่วยการันตีในความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเลี้ยงแพะ ปัจจุบัน นายศักรินทร์ สมัยสง ได้ใช้ชื่อฟาร์มของตัวเองว่า “พรประคองฟาร์ม” หรือ PK FARM ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ มีแพะเนื้อ จำนวน 275 ตัว แกะ จำนวน 9 ตัว โคเนื้อ จำนวน 8 ตัว ไก่พื้นเมือง จำนวน 24 ตัว ห่าน จำนวน 2 ตัว และม้า จำนวน 2 ตัว

          อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลงานและความสำเร็จของงานทั้งปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนระยะเวลาที่ปฏิบัติงานและความยั่งยืนในอาชีพ การเลี้ยงแพะของ นายศักรินทร์ สมัยสง เริ่มต้นโดยการศึกษาหาดูงานโครงการหลวงฯ ฟาร์มต้นแบบ เข้ารับการฝึกอบรมและรับฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ นำมาปรับประยุกต์ใช้ภายในฟาร์มของตนเองจนประสบความสำเร็จ เป็นต้นแบบด้านการเลี้ยงแพะให้เกษตรกรรายย่อย โดยการจัดการฟาร์ม ดังนี้ ด้านพันธุ์และการผลิตสายพันธุ์แพะ ปัจจุบันเน้นการพัฒนาสายพันธุ์ผลิตเนื้อเป็นหลัก และผสมด้วยสายพันธุ์ผลิตนม ด้านการจัดการพืชอาหารสัตว์ มีระบบการจัดการแปลงพืชอาหารสัตว์และการจัดการอาหารข้น โดยใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในท้องถิ่น ด้านบริหารจัดการงานด้านตลาดในฟาร์มเครือข่ายสมาชิก และแนวทางในการทำตลาดแพะจังหวัดนครศรีธรรมราช ด้านบริหารจัดการเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายแพะ ชมรมผู้เลี้ยงแพะจังหวัดนครศรีธรรมราช จากความสำเร็จการเลี้ยงแพะและสร้างเครือข่ายผู้เลี้ยงแพะมีมากมาย อาทิ สมาชิกวิสาหกิจชุมชน สมาชิกภายใต้แปลงใหญ่แพะ ความสามารถผลิตแพะขุนคุณภาพ และสามารถผลิตแพะสายพันธุ์ส่งตลาดทั่วประเทศ

          ด้านความเป็นผู้นำและมีความเสียสละ เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป ทั้งเกษตรกร ประชาชนในท้องถิ่นและหน่วยงานราชการต่าง ๆ โดยได้รับคัดเลือกให้เป็นประธาน กรรมการที่ปรึกษา และคณะทำงานการเลี้ยงสัตว์ในเครือข่ายต่าง ๆ อย่างมากมาย ด้านการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ได้เข้าร่วมปลูกต้นไม้ในวันพ่อ 5 ธันวาคมของทุกปี ร่วมตกแต่งเรือพนมพระวัดประชุมชน (วัดทุ่งค้อ) อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อช่วยสืบสานประเพณีลากพระเป็นประจำทุกปี และเปิดโรงเรียนแพะ ให้กับเกษตรกรที่สนใจเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงแพะ ด้านการถ่ายทอดความรู้ ได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรให้ความรู้ในเรื่องการเลี้ยงสัตว์ด้านปศุสัตว์ กับเกษตรกร บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนที่สนใจ ให้เกิดความรู้และนำไปประยุกต์ใช้และต่อยอดกับอาชีพของตนเองได้ ด้านสังคม ให้การสนับสนุน โดยร่วมสมทบเงินทุนในการตกแต่งเรือพระลากในประเพณีพระลาก งานประเพณีลอยกระทงในเขตพื้นที่ตำบลควนพัง และร่วมทำความสะอาดและตัดหญ้าริมทางในวันคล้ายวันเฉลิมพระเกียรติฯ 5 ธันวาคม วันคล้ายวันเฉลิมพระเกียรติฯ 12 สิงหาคมของทุกปี รวมทั้งสนับสนุนเนื้อแพะและแกงแพะให้กับเกษตรกรที่มีงานบุญหรืองานศพเป็นประจำ

          ทั้งนี้ นายศักรินทร์ สมัยสง ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นลดการใช้สารเคมี ลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยการนำพืชสมุนไพรในธรรมชาติมาใช้ในการรักษาสัตว์ การนำมูลสัตว์มาทำปุ๋ยหมัก ลดการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ การใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นจากพืช เช่น กากปาล์ม ฟักทอง มันเทศตากแห้ง และบอระเพ็ดมาทำเป็นอาหารและยาถ่ายพยาธิเพื่อให้แพะกินอาหารได้มากขึ้น สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้กลุ่มวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์ โทร. 0 – 2653 – 4444
ต่อ 2271

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูล : กลุ่มวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์                              

ข่าว : น.ส.วรรณกร ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ