วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เวลา 9.00 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง (Memorandum Of Understanding) การกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) ของประเทศไทย ตามหลักความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership, PPP) ขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ร่วมกับภาคีเครือข่าย 16 หน่วยงาน เพื่อกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าให้หมดไปจากประเทศไทย และได้รับสถานะประเทศปลอดโรคกลับคืนมาในที่สุด ณ ห้องประชุม ดร.ทิม พรรณศิริ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เขตบางเขน กรุงเทพฯ
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สถานภาพปลอดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าเป็นสิ่งที่สำคัญต่อวงการการเลี้ยงม้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากโรคมีผลกระทบต่อการจัดการแข่งขันกีฬาในประเทศไทย การประกอบพิธีกรรม กิจกรรมสันทนาการ และการขนส่งเคลื่อนย้ายม้าภายในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการนำรายได้เข้าประเทศ ดังนั้น จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในการประสานงานในพื้นที่ ข้อมูล ทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ กำจัดโรคนี้ให้หมดไปจากประเทศไทย ได้รับการรับรองสถานะปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก และสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างปกติในที่สุด ซึ่งการลงนามในบันทึกข้อตกลง (Memorandum Of Understanding) หรือ MOU การกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) ของประเทศไทยในครั้งนี้ มีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมลงนามรวม 17 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมประชาสัมพันธ์ กรมการสัตว์ทหารบก หน่วยม้าทรงประจำพระองค์ฯ กองพันทหารม้าที่ ๒๙ รักษาพระองค์ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สัตวแพทยสภา ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย สมาคมสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาม้าแข่งไทย มูลนิธิม้าไทย ชมรมสัตวแพทย์บำบัดโรคม้าแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ การลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) การกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) ของประเทศไทยนั้น ได้ปฏิบัติตามหลักความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership, PPP) ขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เพื่อกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าให้หมดไปจากประเทศไทย และได้รับสถานะประเทศปลอดโรคกลับคืนมาในที่สุด ซึ่ง OIE ได้ให้คำแนะนำให้ประเทศไทยทำ PPP อย่างเป็นทางการ เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอคืนสภาพปลอดโรค ซึ่งในทางปฏิบัติกรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนอยู่แล้ว ภายใต้แผนปฏิบัติการกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าเพื่อคืนสภาพปลอดโรคของประเทศไทย ทั้ง 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ระยะเผชิญเหตุ (กำลังอยู่ในระยะนี้) ระยะที่ 2 การเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคอุบัติซ้ำ และระยะที่ 3 การขอคืนสภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE)
ด้าน นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า เป็นโรคระบาดสัตว์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงม้าเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มีความสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วโดยพาหะที่สำคัญอย่างริ้น เหลือบ และแมลงดูดเลือด จึงเป็นเรื่องสำคัญในการป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายไปในวงกว้าง และป้องกันโรคในม้า ลา ล่อ และสัตว์ที่มีความไวรับต่อโรคชนิดอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียจากการระบาดของโรค ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership เป็นกุญแจหลักที่จะก่อให้เกิดผลสำเร็จในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรคระบาดสัตว์ให้หมดไปจากประเทศ ทั้งความร่วมมือในด้านการกำหนดนโยบาย การวางแผนยุทธศาสตร์ การปฏิบัติงานในพื้นที่ และห้องปฏิบัติการ โดยหน่วยงาน สมาคม และภาคีเครือข่ายที่ร่วมลงนามในวันนี้ จะร่วมกันประสานข้อมูลเพื่อช่วยในการเฝ้าระวังโรค ขึ้นทะเบียน ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายม้าและสัตว์อื่นที่เป็นพาหะนำโรค การประชาสัมพันธ์เตือนภัยโรคระบาดและข้อปฏิบัติให้เจ้าของม้าทราบ สร้างชุมชนสัมพันธ์ผู้เลี้ยงม้าที่มีความตระหนักและยั่งยืนในการป้องกันโรค การเฝ้าระวังโรคทางอาการ อีกทั้งการร่วมกันพัฒนา ศึกษา วิจัยและสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการ และวางแผนการกำจัดโรคที่ยั่งยืนต่อไป
***************************
ข้อมูล/ข่าว :กลุ่มควบคุม ป้องกันโรคสัตว์เลี้ยง สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์