กรมปศุสัตว์เกาะติดก้าวหน้าโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด-19 ณ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ (บ้านบ่อหวี) จ.ราชบุรี ที่หนุนคนว่างงาน “เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี” และ “เลี้ยงหมูหลุม” เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ให้อาชีพและรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวอย่างยั่งยืน
วันที่ 21กรกฎาคม 2563 สัตวแพทย์หญิงธนิดา หรินทรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์วรวิชญ์ วราอัศวปติ เลขานุการกรม นายสัตวแพทย์บุรินทร์ สรสิทธิ์สุขสกุล ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรีและสัตวแพทย์หญิงสุทธิวรรณ สังข์วิลัย ปศุสัตว์อำเภอสวนผึ้ง ได้นำคณะสื่อมวลชนติดตามความก้าวหน้าการดำเนิน“โครงการฟาร์มตัวอย่าง ต้านภัยโควิด -19 ณ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง (บ้านบ่อหวี) จังหวัดราชบุรี หมู่ที่ 2 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งกรมปศุสัตว์จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ให้อาชีพและรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว
สัตวแพทย์หญิงธนิดา หรินทรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หมู่ที่ 4 บ้านบ่อหวี ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี นับเป็นหนึ่งภายใต้โครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด -19 ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 50 คนโดยในส่วนของกรมปศุสัตว์ได้รับการดำเนินการใน 2 กิจกรรม คือ การเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี และการเลี้ยงหมูหลุม โดยกองงานพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษได้โอนเงินงบประมาณการสร้างโรงเรือนทั้ง 2 กิจกรรมให้ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์หนองกวาง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันในส่วนของโรงเรือนไก่ไข่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนโรงเรือนหมูหลุมยังไม่แล้วเสร็จเหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดราชบุรีสนับสนุนไก่ไข่จำนวน 50 ตัว ดำเนินการส่งมอบให้ฟาร์มตัวอย่างฯแล้ว เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ส่วนหมูสามสายขอสนับสนุนจากศูนย์ฯ หนองกวาง จำนวน 8 ตัว ทั้งนี้ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี ได้สนับสนุนอาหารสัตว์ทั้ง 2 กิจกรรม เป็นเวลา 2 เดือน
สัตวแพทย์หญิง ธนิดา กล่าวถึงความเป็นมาในการจัดทำโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด -19 ด้วยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่เกิดในประเทศไทยและทั่วโลก รวมถึงสถานการณ์วิกฤตการณ์ภัยแล้ง ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจถดถอย ประชาชนเกิดความยากลำบากในการประกอบอาชีพ สถานประกอบกิจการมีการปิดกิจการ เลิกจ้าง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงาน ทำให้ประชาชน วัยแรงงาน พนักงาน และลูกจ้าง ต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงาน ขาดรายได้และเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) จึงได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ปี 2563 ภายใต้กิจกรรมจ้างงานเร่งด่วนขึ้นภายใต้ชื่อ “โครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด -19” เพื่อให้ประชาชนวัยแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ว่างงาน ขาดรายได้ ได้รับความเดือดร้อนด้านอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ จากการจ้างงานในพื้นที่ระหว่างหยุดงาน เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในสังคมได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถประกอบอาชีพได้จากประสบการณ์ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน
สำหรับโครงการจ้างงานเร่งด่วน เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะฝึกการเรียนรู้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์จากการว่างงานเนื่องจากสถานการณ์โควิด – 19 กิจกรรมที่ทำ อาทิ การเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี การเลี้ยงหมูหลุม การทำปุ๋ย การผสมดิน การถากหญ้าในแปลงผัก ขุดลอกคูคลอง การปลูกพืชผักสวนครัว และพืชสมุนไพร เป็นต้น ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนคนละ 300 บาทต่อวัน เมื่อทำครบแล้วหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่จะสำรวจความต้องการเพื่อต่อยอดการประกอบอาชีพตามความต้องการเพื่อให้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้อย่างมั่นคง โดยกระทรวงแรงงานได้รับการจัดสรรงบจ้างงานจำนวน 19.8 ล้านบาท ซึ่งมีแผนดำเนินการในพื้นที่ 17 จังหวัด 30 ฟาร์มตัวอย่าง ภายในระยะเวลา 60 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. – 28 ก.ค.2563 ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องปฏิบัติงานวันละ 8 ชั่วโมง และจะได้รับค่าตอบแทนวันละ 300 บาทต่อคน ทั้งนี้จะมีน้องเกษตรกรได้รับผลประโยชน์รวมจำนวน 1,101 คน
---------------------------------------------------------------------
ข้อมูล : สำนักงานปศุสัตว์อำเภอสวนผึ้ง
ข่าว : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์