นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามข่าวที่ปรากฏตามสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2563 กรณีกระบือป่วยล้มตายกว่า 60 ตัว ที่ตำบลบ้านผือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น โดยมีกระบือทยอยตายวันละตัวสองตัว ซึ่งเป็นกลุ่มกระบือที่เลี้ยงบริเวณท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ลักษณะอาการกระบือที่ตายมีอาการซึม มีน้ำมูกและน้ำลายไหล เบื่ออาหาร คอบวม หลังจากนั้นไม่เกิน 2 วัน กระบือได้ตายลง ซึ่งลักษณะการป่วยตายดังกล่าว มีอาการคล้ายกับโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมียหรือโรคคอบวม นั้น

          อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้เร่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมียหรือโรคคอบวมของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดโรคแล้ว โดยให้ทำการกักสัตว์และประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราวในพื้นที่เกิดโรค ควบคุมการเคลื่อนย้ายโคและกระบือในพื้นที่ เก็บตัวอย่างสัตว์ป่วยและสัตว์ตายเพื่อสืบสวนยืนยันการเกิดโรค รักษาสัตว์ป่วยโดยการฉีดยาปฏิชีวนะ (จากผลการทดสอบยาปฏิชีวนะที่มีความไวในการรักษา ได้แก่ Ceftriazone, Enrofloxacin, Ampicillin และ Gentamycin)  ฉีดวัคซีนให้กับโคและกระบือรอบจุดเกิดโรคในรัศมี 5 กิโลเมตร ค้นหาสัตว์ป่วยเพิ่มเติม ตั้งจุดตรวจการเคลื่อนย้ายสัตว์ และฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะและคอกสัตว์ป่วย รวมทั้งขอความร่วมมือให้งดการซื้อขายโคและกระบือในตลาดนัดค้าสัตว์ในพื้นที่

            นอกจากนี้เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ป้องกันความเสียหายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคและกระบือ กรมปศุสัตว์จึงกำหนดให้ดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้

                   สำหรับฟาร์มหรือฝูงสัตว์ที่มีโรคระบาดแล้ว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคออกนอกพื้นที่ ดำเนินการโดย

  • จัดพื้นที่เฉพาะสำหรับกักแยกสัตว์ป่วยให้ห่างจากสัตว์ปกติมากที่สุด แยกอุปกรณ์สัตว์ป่วยกับสัตว์ปกติ แยกบุคคลดูแลสัตว์ป่วย หากไม่สามารถทำได้ ให้จัดลำดับโดยทำกิจกรรมกับสัตว์ป่วยเป็นลำดับสุดท้าย
  • ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามพื้นคอกเป็นประจำ
  • รักษาสัตว์ป่วยด้วยยาปฏิชีวนะที่ให้ผลดีในการรักษานาน 5-7 วันและให้ยาอื่นๆ ตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาแก้อักเสบ เป็นต้น รวมถึงฉีดยาปฏิชีวนะให้สัตว์ร่วมฝูงสัตว์ป่วย
  • ห้ามชำแหละหรือเคลื่อนย้ายสัตว์ตายเพื่อบริโภคหรือจำหน่ายเน้นทำลายซากสัตว์ให้ถูกหลักโดยกำจัดซาก ณ สถานที่ที่สัตว์ตาย ด้วยการเผาหรือฝังซากสัตว์ใต้ระดับผิวดินไม่น้อยกว่า 1 เมตร และใช้ยาฆ่าเชื้อที่ทำลายเชื้อโรคได้

สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่มีสัตว์ป่วย สามารถป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์มได้ ดังนี้

  • งดนำสัตว์จากพื้นที่ระบาดเข้ามาเลี้ยง อย่างน้อย 1 เดือน
  • ไม่นำโคกระบือไปเลี้ยงในแปลงหญ้าหรือพื้นที่เลี้ยงสัตว์ร่วมกับผู้อื่น
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กระบือและโคอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไปปีละ 1 ครั้ง โดยขอรับบริการได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่
  • เข้มงวดการจัดการเพื่อป้องกันโรคเข้าฟาร์ม เช่น

(4.1) ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์ม หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเปลี่ยนรองเท้าบู๊ทสำหรับใช้เฉพาะภายในฟาร์ม และเดินผ่านอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าโรงเรือน

(4.2) ห้ามยานพาหนะทุกชนิด เช่น รถรับซื้อสัตว์และซากสัตว์ รถขนอาหารสัตว์ รถรับซื้อมูลสัตว์เข้าภายในฟาร์มเด็ดขาด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องพ่นยาฆ่าเชื้อโรคและจัดให้รถดังกล่าวอยู่ไกลจากสถานที่เลี้ยงมากที่สุด

(4.3) ซื้อพืชอาหารสัตว์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีการระบาดของโรค

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้ดูแลสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และป้องกันสัตว์ของตนเองไม่ให้สัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะนำเชื้อโรคเข้าสถานที่เลี้ยงสัตว์ ให้เกษตรกรสังเกตอาการของสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์แสดงอาการผิดปกติหรือสงสัยป่วยตายจากโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมียหรือโรคคอบวม ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารงานส่วนตำบลในพื้นที่ หรือโทรแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่เบอร์โทร 063-225-6888 หรือผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จะได้ให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที สามารถลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้

                                        ----------------------------------------------

ข้อมูล/ข่าว : กลุ่มควบคุมป้องกันโรคปศุสัตว์  สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์