วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.00 น. นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมหลักสูตร “พนักงานตรวจเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในโรงงาน” สำหรับนายสัตวแพทย์ เพื่อพัฒนาความรู้นายสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการตรวจสอบและควบคุมการผลิตสินค้าปศุสัตว์สำหรับการส่งออก ในระหว่างวันที่ 11 – 13 พฤศจิกายน 2563 ณ ภูมนตรารีสอร์ท จังหวัดนครนายก โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 100 คน
นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กล่าวว่า การฝึกอบรมหลักสูตร “พนักงานตรวจเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในโรงงาน” สำหรับนายสัตวแพทย์ เป็นหลักสูตรที่เน้นให้ความรู้ ความเข้าใจในด้านการตรวจประเมินโรงงาน ร่วมกับเทคนิคการสื่อสารความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหาร (Food safety risk communication) สำหรับสินค้าปศุสัตว์ โดยเปิดโอกาสให้ผู้รับการอบรมได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และข้อมูลในการควบคุมการตรวจประเมินด้านความปลอดภัยอาหารสำหรับสินค้าปศุสัตว์เพื่อการส่งออก รวมถึงการเตรียมความพร้อมกับให้เข้ากับบริบทแวดล้อมด้านการส่งออกที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รู้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้าและกฎระเบียบสากล โดยสามารถนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานด้านการตรวจประเมินด้านความปลอดภัยอาหารสำหรับสินค้าปศุสัตว์เพื่อการส่งออก ให้สอดคล้องตามมาตรฐานข้อกำหนดหรือกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้า
โครงการฝึกอบรมหลักสูตร “พนักงานตรวจเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในโรงงาน” สำหรับนายสัตวแพทย์ เป็นอีกหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของกรมปศุสัตว์ คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สาขาการปศุสัตว์ให้เป็นผู้รู้คิด รู้รอบ สั่งสมความเชี่ยวชาญในอาชีพ และมีศักยภาพที่พร้อมรับกับบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างแข็งแกร่ง เพื่อก้าวเข้าสู่การยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศและเป็นกลไกหลักในการผลักดันให้กรมปศุสัตว์ไทยสามารถแข่งขันได้อย่างไร้ขีดจำกัดในเวทีโลก ผ่านการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์กรมปศุสัตว์ พ.ศ.2561 – 2565 ซึ่งภาคการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ถือเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมายหลักขององค์กรและประเทศไทยที่กรมปศุสัตว์ต้องส่งเสริมและผลักดันอย่างต่อเนื่อง
การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์สัตว์ต่าง ๆ ถือเป็นการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไปจนถึงการขยายธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหารของผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ซึ่งการส่งออกสินค้าต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน จะต้องมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าและตามมาตรฐานสากล แต่ละประเทศก็จะมีการกำหนดมาตรฐานที่สูงและมีการปรับปรุงกฎระเบียบและข้อกำหนดอยู่เสมอ เพื่อปกป้องและรักษาความปลอดภัยของผู้บริโภคภายในประเทศของตนให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของทิศทางตลาดโลก มาตรการสำคัญที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนด ได้แก่ สวัสดิภาพสัตว์ที่ดีตั้งแต่การเลี้ยง การขนส่ง การฆ่าโดยไม่ให้สัตว์ทรมาน การควบคุมการผลิตโดยเน้นมาตรการควบคุมระบบความปลอดภัยของอาหาร (Food safety System) ไปจนถึงการควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานในด้านสุขลักษณะการผลิตที่ดีและการจัดทำระบบ GMP และ HACCP ในโรงงาน รวมถึงความเชื่อมั่นต่อระบบการตรวจสอบและรับรองของภาครัฐ (Official inspection and certification system) ในฐานะของผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย (Competent Authority) เป็นต้น ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการระบาดของโรคโควิด – 19 ทำให้เกิดการชะลอนำเข้าสินค้าและขาดความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของอาหาร จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตและการส่งออก โดยการสื่อสาร เจรจาและเรียนรู้จากกรณีศึกษา เพื่อปรับมาตรการและป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด -19 ในสินค้าปศุสัตว์ไทยที่ต้องส่งออก
“การฝึกอบรมดังกล่าว ถือเป็นผลดีที่ทำให้การส่งออกของประเทศไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก และรักษามาตรฐานการควบคุมกระบวนการผลิตให้ได้ตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า ตลอดจนนายสัตวแพทย์ที่เข้าร่วมการอบรม ได้นำความรู้และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ มาปรับใช้ในการทำงานและเตรียมความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป”
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์กล่าว
---------------------------------------------------------------------------------
ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ ข่าว : น.ส.วรรณกร ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ