วันนี้ (วันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2563) นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “สัตวแพทย์ผู้ควบคุมการผลิตอาหารสัตว์ที่มียา” เพื่อให้สัตวแพทย์ที่ควบคุมการสั่งใช้ยาในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ มีความรู้และสามารถสั่งใช้ยาผสมในอาหารสัตว์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับกฎหมายอาหารสัตว์ที่กำกับดูแล และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้เพื่อให้อาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยาที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมในภาคปศุสัตว์ ณ โรงแรมทินิดี โอเต็ล แอท บางกอก กอล์ฟ คลับ จังหวัดปทุมธานี
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่กรมปศุสัตว์และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในภาคปศุสัตว์ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมันตั้งใจที่จะลดการใช้ยาต้านจุลชีพและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผลในปศุสัตว์ (Prudent use) ถือเป็นภารกิจที่สำคัญของกรมปศุสัตว์ ในการกำกับดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตามหลักอาหารปลอดภัย (Food Safety) และหลักการสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Approach) และการผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่มีสัตวแพทย์เป็นผู้ควบคุมระบบการผลิต จำเป็นต้องมีความรู้และกำกับดูแลตามที่กฎหมายกำหนด และสอดคล้องกับหลักมาตรฐานสากล ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีความสำคัญในการลดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ
ด้าน นายสัตวแพทย์รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (Atimicrobial resistance) และได้มีแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 (National Strategic plan on AMR) โดยเป้าประสงค์หลักที่สำคัญของกรมปศุสัตว์ คือ ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ลง 30% ภายในปี พ.ศ. 2564 โดยกรมปศุสัตว์ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการกำกับดูแลให้มีการใช้ยาอย่างถูกต้องสมเหตุสมผล อาทิ ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดเพื่อเร่งการเจริญเติบโต (Growth Promoter) การมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพในฟาร์ม มีโครงการลดการใช้ยาปฏิชีวนะและโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ (Raised Without Antibiotices : RWA) และการส่งเสริมทางเลือก (Alternative) ในการเลี้ยงสัตว์ เช่น การใช้โปรไบโอติกส์และสมุนไพร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายกำกับดูแลอาหารสัตว์ที่ผสมยา (Medicated Feed) โดยมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยอาหารสัตว์ที่ผสมยา ที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ที่กำหนดให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่จะผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาได้ ต้องมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมระบบการผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรจากกรมปศุสัตว์ ดังนั้น กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ จึงได้จัดการฝึกอบรมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อควบคุมโรงงานผลิตอาหารสัตว์และฟาร์มสัตว์ที่จะผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาให้เป็นไปตามหลักวิชาการที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป
------------------------------------------------------
ข้อมูล : กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กรมปศุสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น.ส.จิราภรณ์ เกตุบูรณะ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม