นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ดำเนินการโครงการโคบาลบูรพาขึ้นเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยเฉพาะจังหวัดสระแก้วซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของภาคตะวันออก แต่มีพื้นที่อยู่ในเขตชลประทานเพียงร้อยละ 10.4 ของพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้ค่าเฉลี่ยผลผลิตพืชต่อไร่ค่อนข้างต่ำ และบางพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทานและสภาพดินมีความสมบูรณ์ต่ำ ประสบปัญหาภัยแล้งอยู่เสมอ ซึ่ง กระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์ให้เกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นพื้นที่มีศักยภาพในการเลี้ยงสัตว์ และพัฒนาให้จังหวัดสระแก้วเป็นเมืองแห่งปศุสัตว์ “โคบาลบูรพา” ที่สำคัญของประเทศ มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้ออย่างครบวงจรนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2560

          อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขโครงการทั้งสิ้น 6100 ราย เป็นเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อ 6000 ราย และแพะ 100ราย โดยเกษตรกรจะได้รับการสนับสนุน พันธุ์โคเนื้อรายละ 5 ตัว แพะเนื้อรายละ 32 ตัว พร้อมอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการปลูกสร้างแปลงพืชอาหารสัตว์ โรงเรือนและบ่อบาดาล โดยเกษตรกรต้องส่งคืนโคเพศเมียอายุ 12 เดือน 5 ตัวแรก หรือ ลูกแพะเพศเมียอายุ 6 เดือน 32 ตัวแรกให้โครงการฯ เพื่อนำไปขยายผลช่วยเหลือเกษตรกรรายใหม่นำไปเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

          จากการดำเนินการนับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี พ.ศ.2560 เกษตรกรในโครงการฯ ผลิตโคเนื้อในระยะขยายผล จำนวน 685 ตัว ทำให้เพิ่มการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ 137 ราย  และผลิตแพะในระยะขยายผล จำนวน 421 ตัว สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เพิ่มขึ้น 20 ราย และตามที่กรมปศุสัตว์ใช้หลักการ ตลาดนำการผลิต ส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาพันธุ์โคเนื้อ โดยใช้พันธุ์โคเนื้อลูกผสมสายพันธุ์ยุโรป เพื่อให้ได้โคเนื้อคุณภาพสูง ซึ่งหากเกษตรกรผลิตโคลูกผสมยุโรป จะสามารถจำหน่ายโคมีชีวิตได้ในราคา 110 บาท/กก. ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายโคเนื้อเพศผู้จำนวน 375 ตัวได้ถึง 8,844,905 บาท โดยมีสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อเป็นตลาดหลักในการรับซื้อโคเนื้อ ทั้งนี้ ได้กำชับผู้ปฏิบัติงานโครงการโคบาลบูรพา ให้ติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งบืนต่อไป

 

ข้อมูล กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์

เรียบเรียง/เผยแพร่ นางสาวจิรภา  วงษ์ศุข นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการพิเศษ