นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม ผอ.กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ ผู้ว่าราชการจังหวัด คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ จังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท อ่างทอง กาญจนบุรี และนครปฐม เพื่อตรวจราชการ มอบสารกำจัดแมลงและเวชภัณฑ์สัตว์ รณรงค์ ควบคุม ป้องกันโรค รวมทั้งกำกับดูแลการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือที่ได้รับผลกระทบ ประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้แก่เกษตรกร และได้เปิดเผยถึงการดำเนินงาน 5 มาตรการ รวมทั้งมาตรการเยียวยากรณีสัตว์ตายหรือป่วยตายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ในระหว่างวันที่ 18 – 20 มิถุนายน 2564
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อรณรงค์ป้องกัน ควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน ในหลายพื้นที่ที่มีการระบาด กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ควบคุม ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน ทั่วประเทศ ทั้งได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของวัคซีน LSDV ป้องกันโรคลัมปี สกิน กรมปศุสัตว์ได้กระจายวัคซีนลงพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ทั้งยังได้มีการวางแผนในการฉีดวัคซีนให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นไปตามแผนการป้องกันการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด ซึ่งการนี้กรมปศุสัตว์ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการแก้ไขและควบคุมการระบาดใน 5 มาตรการคือ 1. ควบคุมการเคลื่อนย้ายโค-กระบือเพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และปฏิบัติตามแนวทางการเคลื่อนย้ายอย่างเคร่งครัด โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการปิดด่านตามแนวชายแดนพร้อมตรวจตราการลักลอบเคลื่อนย้ายอย่างเข้มงวด 2. เฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิดเน้นการรู้โรคให้เร็ว ควบคุมได้ทัน โรคสงบได้อย่างรวดเร็ว 3. ป้องกันและควบคุมแมลงพาหะนำโรค ให้เกษตรกรป้องกันโดยใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์ และบริเวณโดยรอบฟาร์ม ทั้งในพื้นที่ระบาดและพื้นที่เสี่ยง ลงพื้นที่พ่นยาฆ่าแมลง และแจกยาฆ่าแมลง รวมถึงให้คำแนะนำการป้องกัน 4. รักษาสัตว์ป่วยตามอาการเนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง ซึ่งจำเป็นต้องรักษาตามอาการ โดยแบ่งการรักษาเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 สัตว์ป่วยแสดงอาการมีไข้ให้ดำเนินการให้ยาลดไข้ ระยะที่ 2 เริ่มแสดงอาการตุ่มบนผิวหนังให้ยาลดการอักเสบ ระยะที่ 3 ตุ่มบนผิวหนังมีการแตก หลุดลอกให้ยารักษาแผลที่ผิวหนังร่วมกับยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ระยะที่ 4 แผลที่ผิวหนังตกสะเก็ดใช้ยารักษาแผลภายนอกจนกว่าจะหายดีและ 5. การใช้วัคซีนควบคุมโรค
ส่วนมาตรการที่กรมปศุสัตว์เตรียมการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี สกิน ในกรณีที่เป็นการชดเชยกรณีสัตว์ตายหรือป่วยตายนั้น จะดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 โดยมีขั้นตอน คือ 1.รวบรวมข้อมูลความเสียหาย 2.รวบรวมข้อมูลเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ปศุสัตว์อำเภอ) 3. รวมรวมข้อมูลเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ปศุสัตว์จังหวัด) และ 4. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ปศุสัตว์จังหวัดหรือกรมปศุสัตว์
ทั้งนี้ จะชดเชยตามจริงแต่ไม่เกินรายละ 2 ตัว เป็นเงินสดผ่านบัญชีเงินฝากของเกษตรกรตามหลักเกณฑ์ คือ กรณีโค - กระบือ อายุ 6 เดือน ชดเชย โค 6,000 บาท/ตัว กระบือ 8,000 บาท/ตัว กรณีโค - กระบือ อายุ 6 เดือน - 1 ปี โค 12,000 บาท/ตัว กระบือ 14,000 บาท/ตัว กรณีโค - กระบือ อายุ 1 ปี – 2 ปี โค 16,000 บาท/ตัว กระบือ 18,000 บาท/ตัว และกรณีโค – กระบือ อายุ 2 ปี โค 20,000 บาท/ตัว กระบือ 22,000 บาท/ตัว หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคลัมปี สกิน และมีความประสงค์จะขอรับการเยียวยา ติดต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ใกล้บ้าน หรือศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ทางโทรศัพท์ 0 – 2653 – 4444 ต่อ 3315 และ E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
*********************************************
ข้อมูล : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
ข่าว : พิจารณา สามนจิตติ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สลก.