เนื่องจากในปัจจุบัน สภาพภูมิอากาศในประเทศไทยมีความแปรปรวน ฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลาย พื้นที่และเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว กอปรกับมีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยทั้งในโคนมพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน เป็นไทป์ A ซึ่งพบการระบาดครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2562 กรมปศุสัตว์ได้ดําเนินการมาตรการต่างๆ เพื่อ ควบคุมโรค ดังนี้
1. กักสัตว์ป่วยและรักษา พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันชนิดเชื้อไวรัสและเฝ้า ระวัง ติดตามการเปลี่ยนแปลงเชื้อในพื้นที่
2. ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วย สัตว์ร่วมฝูง และสัตว์ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากจุดเกิดโรคพร้อมทั้งประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว
3. ตั้งจุดตรวจสัตว์เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อทําลายเชื้อโรค ยานพาหนะที่จุด ตรวจ รวมถึงคอกสัตว์ป่วย
4. เฝ้าระวังโรคในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และค้นหาสัตว์ป่วยเพิ่มเติม
5. ขอความร่วมมือเกษตรกร งดการส่งนม การผสมเทียม การจําหน่ายมูลโคสดออกจากฟาร์มที่มีการ ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยจนกว่าสัตว์ป่วยตัวสุดท้ายหายป่วยเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน
6. ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร สหกรณ์โคนม และศูนย์รับนมในพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงทราบ โดยมีการบูรณาการในการควบคุมโรค
ทั้งนี้โรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคติดต่อที่สําคัญ ในโค กระบือ แพะ แกะ และสุกร ที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถติดต่อและแพร่กระจายได้โดยการกินหรือสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยตรง หรือเชื้อที่ปนเปื้อนจากถังนม คน ยานพาหนะ เป็นต้น เพราะเชื้อไวรัสจะถูกขับออกมาจากสัตว์ป่วยทางน้ำมูก น้ำลาย น้ำนม มูล ลมหายใจ และบาดแผล สัตว์ที่ป่วยจะซึม มีไข้เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองเกิดขึ้นที่ริมฝีปาก ช่องปากและไรกีบ ทําให้น้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้และ เดินกะเผลก ในโคนมอาจมีเม็ดตุ่มที่เต้านม ทําให้เต้านมอักเสบได้เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียารักษา แต่จะ ใช้ยาปฏิชีวนะหรือยารักษาภายนอกเพื่อลดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเท่านั้น
ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสียหายในเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม อธิบดีกรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือศูนย์รับนม และสหกรณ์โคนม ดังนี้
1. เป็นเครือข่ายการเฝ้าระวัง ค้นหาโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม โดยทําการตรวจสอบฟาร์มโคนมของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกการซื้อขายน้ำนมดิบของท่าน จากข้อมูลที่สงสัยว่าจะมีการเกิดโรคปากและเท้าเปื่อย ขอให้ท่านแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทราบทันที ได้ที่สํานักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือสํานักงานปศุสัตว์อําเภอ เพื่อเข้าดําเนินการตรวจสอบและการควบคุมโรคโดยเร็ว
2. เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น พ่นยาฆ่าเชื้อรถทุกคันที่เข้า- ออกศูนย์รับนม หรือ สหกรณ์โคนม ตลอดจนป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อยจากผู้ปฏิบัติงาน
3. ประชาสัมพันธ์ให้เน้นย้ำเกษตรกรป้องกันโรคเข้าฟาร์มดังนี้
3.1 งดการนําเข้าสัตว์มาเลี้ยงใหม่จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย
3.2 เข้มงวดการจัดการเพื่อป้องกันโรคเข้าฟาร์ม เช่น
- ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์มโคนมบริเวณรีดนมและที่เลี้ยงโคนม หากจําเป็น ต้องเปลี่ยนรองเท้า ที่ใช้เฉพาะภายในฟาร์ม และเดินผ่านอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง
- ห้ามยานพาหนะทุกชนิด เช่น รถรับซื้อสัตว์รถขนอาหารสัตว์รถรับซื้อมูลสัตว์ เข้าภายในฟาร์ม หากจําเป็น ต้องพ่นยาฆ่าเชื้อโรค และจัดให้รถดังกล่าวอยู่ไกลจากสถานที่เลี้ยงโคให้มากที่สุด
- ทําความสะอาดและทําลายเชื้อโรค ถังส่งนม และอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนนําเข้าฟาร์ม
- เลือกซื้อพืชอาหารสัตว์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย
3.3 หากฟาร์มอยู่ในพื้นที่ที่มีโรคปากและเท้าเปื่อยระบาดให้หลีกเลี่ยงการผสมเทียม และงดการนําสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่เข้ามาในช่วงที่มีโรคระบาดอยู่
3.4 หากพบโคนมป่วย หรือสงสัยว่าเป็นโรคปากและเท้าเปื่อย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เข้า ช่วยเหลือในการควบคุมโรคโดยเร็ว
สําหรับฟาร์มที่มีโรคระบาดแล้ว กรมปศุสัตว์แนะนําให้เกษตรกรป้องกันการแพร่กระจายโรคภายในฟาร์ม และออกนอกฟาร์ม ได้แก่ จัดให้มีพื้นที่เฉพาะสําหรับกักแยกสัตว์ป่วยให้ห่างจากสัตว์ปกติให้มากที่สุด แยกบุคคลสําหรับ ดูแลสัตว์ป่วย หากไม่สามารถทําได้ให้จัดลําดับ โดยต้องทํากิจกรรมกับสัตว์ป่วยเป็นลําดับสุดท้าย แยกอุปกรณ์ของสัตว์ป่วยกับสัตว์ปกติ งดอาบน้ำสัตว์ป่วยเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อภายในฟาร์มไปกับละอองฝอย ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามพื้นคอกเป็นประจํา โดยไม่ใช้เครื่องพ่นยาแรงดันสูง เนื่องจากจะทําให้เชื้อโรคฟุ้งกระจาย งดส่งนม ไม่จําหน่ายมูลโคสดออกนอกฟาร์ม และงดผสมเทียมจนกว่าสัตว์ป่วยตัวสุดท้ายหายป่วยเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน
ท้ายที่สุดนี้อธิบดีกรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สังเกตอาการสัตว์ที่เข้าเลี้ยงในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโคเนื้อ กระบือ แพะ และแกะ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อําเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด เพื่อจะได้เร่งดําเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลสามารถติดต่อได้ ที่สํานักงานปศุสัตว์อําเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์ 063-225-6888
ข้อมูล / ข่าว : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์