วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00 น. นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร HACCP สำหรับผู้ประกอบการอาหารสัตว์ โดยมีนายสัตวแพทย์รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กล่าวรายงาน พร้อมผู้เข้าร่วมอบรมรุ่นที่ 1 จำนวน 50 คน โดยมีการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด ในระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 ณ เดอะไพรเวซี่ บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ได้รับการรับรอง SHA)

          นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การฝึกอบรมหลักสูตร HACCP เป็นการฝึกอบรมให้แก่บุคลากร ที่ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ภาคเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ให้มีความรู้ความเข้าใจ ในการนำระบบ GHPs/HACCP ซึ่งเป็นระบบที่ปรับปรุงใหม่จากระบบ GMP/HACCP เดิมของ CODEX มาใช้ในการควบคุมการผลิตอาหารสัตว์ ให้ได้คุณภาพและมีความปลอดภัยตรงตามความต้องการของประเทศคู่ค้าและผู้ใช้สินค้าอาหารสัตว์ ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาขีดความรู้ความสามารถ เพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสอดคล้องกับนโยบายของกรมปศุสัตว์ ที่ต้องการให้เกิดความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหารรวมถึงอาหารสัตว์ สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคภายในประเทศ ตลอดจนประเทศคู่ค้าที่ซื้ออาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ให้ได้รับสินค้าที่ปลอดภัย เป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตอาหารและอาหารสัตว์ของไทย สามารถส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาท โครงการฝึกอบรมดังกล่าว มาจากการที่กรมปศุสัตว์ได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้ประกอบการจะสามารถนำระบบ HACCP ไปใช้ในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอาหารสัตว์ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และทำให้ปลอดภัย ทั้งระบบการผลิตอาหารสัตว์ สามารถลดอันตรายที่อาจปนเปื้อนในอาหารสัตว์ ทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ โดยเฉพาะโรคระบาดสัตว์ ได้แก่ โรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก และโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร รวมถึงการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของห่วงโซ่อาหารและอาหารสัตว์ ทำให้อาหารสัตว์ของไทยเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดฝึกอบรมครั้งนี้

          "กรมปศุสัตว์เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีการนำระบบ Hazard Analysis and Critical Control Point (HACCP) เพื่อควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นระบบประกันคุณภาพที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหาร โดยได้นำมาพัฒนาใช้กับอุตสาหกรรมสัตว์เป็นครั้งแรก แต่ปัญหาที่พบคือ บุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถด้าน HACCP ไม่เพียงพอกับปริมาณโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมยังขาดความเข้าใจและยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะนำระบบ HACCP มาใช้ในกระบวนการผลิต ดังนั้น การส่งเสริมบุคลากรทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนให้มีความรู้ ความสามารถในเรื่องระบบ HACCP อย่างแท้จริง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ อันจะเป็นการเตรียมความพร้อมกับการที่ประเทศคู่ค้าอาจจะมีข้อบังคับให้ผู้ส่งออกอุตสาหกรรมอาหารสัตว์นำระบบ HACCP มาใช้ในกระบวนการผลิต” รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

---------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูล : กองควบคุมอาหารและยาสัตว์                                    ข่าว : น.ส.วรรณกร  ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ