อธิบดีกรมปศุสัตว์ แจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับการเลือกซื้อเนื้อในฤดูร้อน เพื่อป้องกันการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร พร้อมแนะให้เลือกซื้อเนื้อสัตว์ในร้านค้าที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK”
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้สภาพอากาศในหลายพื้นที่ร้อนอบอ้าว ส่งผลให้เอื้อต่อการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ อาจทำให้อาหารบูด หรือเน่าเสียง่าย ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้ กรมปศุสัตว์มีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน จึงออกมาแจ้งเตือนถึงข้อแนะนำเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย ได้มาตรฐานตามที่
กรมปศุสัตว์กำหนด และที่สำคัญต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยประชาชนสามารถเลือกซื้อเนื้อสัตว์ได้ในสถานที่จัดจำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ ที่มีตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ดังสโลแกนที่ว่า “เนื้อสัตว์ปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย เลือกซื้อเนื้อสัตว์ครั้งใด มองหาสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK” ซึ่งผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่จำหน่ายในร้านค้าดังกล่าว จะผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานครบวงจร ตั้งแต่ระบบฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ ตลอดจนการจัดจำหน่าย ภายใต้การควบคุมคุณภาพความปลอดภัยของกรมปศุสัตว์ เนื้อสัตว์มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยผ่านการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ประชาชนต้องรู้จักสังเกตลักษณะภายนอกของเนื้อสัตว์ ดังนี้
เนื้อหมู : ควรเลือกหมูที่มีสีชมพู มันสีขาว หนังเกลี้ยงและขาว ไม่มีเม็ดสาคูซึ่งเป็นตัวอ่อนของพยาธิแทรกในเนื้อ สำหรับหมูสามชั้นควรเลือกที่มีมันบาง มีเนื้อหลายชั้น หนังบาง ไม่ควรซื้อหมูที่มีเนื้อสีแดงเกินไป เพราะอาจมีสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งมักเกิดจากค่านิยมของผู้ขายที่นิยมให้มีเนื้อแดงมากจึงไปบังคับทางฟาร์มให้ใส่สารเร่งมิเช่นนั้นจะไม่รับซื้อ จึงไม่ควรสนับสนุนร้านค้าที่ขายเนื้อหมูที่สีแดงมากหรือแทบไม่มีไขมันเลย
เนื้อวัว : ควรเลือกซื้อเนื้อวัวที่มีสีแดงสด กดแล้วไม่บุ๋ม ไม่มีน้ำเลือดไหลซึมออกมา ไม่มีสีคล้ำอมเขียว ดมดูแล้วไม่มีกลิ่นเหม็นเน่า ไม่ช้ำเลือด ไม่มีเม็ดสาคูซึ่งเป็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด
เนื้อเป็ดและไก่ : ควรเลือกที่สด สะอาด เนื้อแน่น ไม่เปลี่ยนเป็นสีเขียว ไม่มีกลิ่นเหม็น หรือมีสีเทาตามตัว ไม่มีจ้ำเลือดหรือตุ่มหนอง
ไข่เป็ด ไข่ไก่ : ควรเลือกซื้อและบริโภคไข่ที่มีสภาพเปลือกไข่ดี ไม่แตก หรือ บุบ ร้าว ไม่บริโภคไข่ที่หมดอายุ หากไม่แน่ใจ ให้ทดสอบโดยนำไข่ไปลอยน้ำ หากไข่จมแสดงว่าไข่ยังสดอยู่ แต่ถ้าลอยหรือมีกลิ่นแสดงว่าไข่เน่าเสีย
การบริโภคของที่ไม่สุก ไม่สด หรือไม่สะอาด อาจจะทำให้เกิดอาการท้องเสียจากอาหารเป็นพิษได้ แต่ก่อนที่เราจะบริโภคเนื้อสัตว์ให้อร่อย และปลอดภัยจากโรคภัยผู้บริโภคควรปฏิบัติดังนี้
- ตรวจสอบสภาพและความสะอาดของเนื้อสัตว์ก่อนนำมาปรุงอาหารทุกครั้ง
- ควรเก็บเนื้อสัตว์ไว้ในตู้เย็น เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์
- กะปริมาณเนื้อที่ปรุงอาหารให้พอเหมาะ ไม่ควรนำเนื้อที่ออกจากความเย็นแล้วกลับไปใส่ตู้เย็นซ้ำอีก
- ต้องปรุงเนื้อสัตว์ให้สุกทุกครั้ง เพื่อทำลายเชื้อโรคต่างๆ
- ต้องรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกใหม่เท่านั้น ไม่ตั้งทิ้งไว้นาน
กรมปศุสัตว์ได้ให้ความสำคัญในการผลิตเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัย และมีมาตรการในการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนสนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ในการเลือกเนื้อสัตว์ปลอดภัยได้ที่โทรศัพท์ หมายเลข 0-2653-4444 ต่อ 3144 หรือ 3131
---------------------------------------------------------------
ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์
ข่าว : นางสาววรรณกร ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ