วันอังคารที่ 19 เมษายน 2565 เวลา 09.00 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดโครงการอบรมสัมมนา “นักจัดสวัสดิภาพสัตว์ รุ่นที่ 1” โดยมีนายสมเกียรติ พันธ์ศรี ผู้อำนวยการกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กล่าวรายงาน และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เข้าร่วมอบรมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom cloud meeting) การอบรมสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานด้านหลักการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 รวมทั้งให้มีความเข้าใจในกระบวนการรับข้อร้องเรียน ทำให้เกิดการบูรณาการการแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ณ ห้องประชุมม้ากัณฐกะ ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการ กรมปศุสัตว์มีความจำเป็นที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และเร่งระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา รวมถึงการยกระดับการให้บริการทางด้านสัตวแพทย์ให้ดียิ่งขึ้นไป ซึ่งทั้งปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ นายสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ ล้วนเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านสวัสดิภาพสัตว์ โดยจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในพระราชบัญญัติดังกล่าว และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ความรู้พื้นฐานด้านหลักการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ความรู้ด้านกฎหมาย การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และการทราบถึงแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนต่าง ๆ หากผู้ปฏิบัติงานขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวแล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกรมปศุสัตว์ ตลอดจนอาจกระทบถึงตัวผู้ปฏิบัติงานเองในแง่ความผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้
ทั้งนี้ การจัดสวัสดิภาพสัตว์ถือเป็นเรื่องที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศหรือ OIE ให้ความสำคัญ แม้ว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยจะมีแนวทางปฏิบัติและมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดสวัสดิภาพสัตว์แล้วก็ตาม แต่นานาชาติยังคงใช้ปัญหาด้านการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ไม่เหมาะสมมาใช้กีดกันทางการค้า เช่น กรณีลิงเก็บมะพร้าว หรือแม้แต่การใช้งานช้างเพื่อการท่องเที่ยวในประเทศไทย ยังถูกประเทศแถบยุโรปต่อต้านในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งในแง่การท่องเที่ยวและการค้า ดังนั้นในอนาคตควรที่จะมีการจัดทำยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังต่อไป โดยกรมปศุสัตว์เองเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการจัดการปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบูรณาการความร่วมมือในทุกภาคส่วน