วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เวลา 08.30 น. นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรม หลักสูตรการแปรรูปเนื้อสัตว์และนมสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการชาวเมียนมา (Meat and Dairy processing training course for farmers and processors) โดยมี ดร. อำพล วริทธิธรรม ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ กล่าวรายงาน และนางสาวเอื้องพลอย ใจลังกา ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เชียงใหม่ กล่าววัตถุประสงค์และที่มาของการจัดอบรม พร้อมด้วย น.สพ. ชุมพล บุญรอด ปศุสัตว์เขต 5 น.สพ. อนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ น.สพ. พูนศักดิ์ นาวาทอง หัวหน้าด่านกักสัตว์เชียงใหม่ และผู้แทนจากกรมปศุสัตว์ ร่วมให้การต้อนรับ Dr. Khin Hlaing, Director of Myanmar Livestock Federation (MLF) และผู้เข้าร่วมอบรมจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กว่า 20 คน ในระหว่างวันที่ 13 – 19 พฤศจิกายน 2565 โดยเมียนมาถือเป็นประเทศที่มีวัตถุดิบที่มีคุณภาพจำนวนมาก และประเทศไทยถือเป็นหน่วยงานที่มีความสามารถในการแปรรูปวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และความร่วมมือระหว่างประเทศเมียนมา โดยสหพันธ์ปศุสัตว์เมียนมา (Myanmar Livestock Federation) และประเทศไทย โดยกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง และสร้างความแข็งแกร่งให้ประชาคมอาเซียน ซึ่งการอบรมในครั้งนี้จะทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการชาวเมียนมานำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ น้ำนมโค เนื้อโค เนื้อสุกร และเนื้อไก่ ในอุตสาหกรรมของประเทศ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
การอบรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสหพันธ์ปศุสัตว์เมียนมา (Myanmar Livestock Federation) เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลไทยในเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งได้เข้าร่วมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประชาคมอาเซียนเป็นเป้าหมายการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ โดยประชาคมอาเซียนเปรียบเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกันของประเทศสมาชิก โดยร่วมมือกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงให้อาเซียน มีความแข็งแกร่ง มีภูมิต้านทานที่ดีในการรับมือกับปัญหาใหม่ ๆ ระดับโลก จากการเข้าร่วมประชาคมอาเซียนทำให้มีการเปิดเสรีด้านการค้าและบริการ เพื่อส่งเสริมการแบ่งงานผลิตสินค้าและบริการภายในอาเซียน โดยเน้นการใช้วัตถุดิบภายในอาเซียนเป็นหลักตามนโยบายข้างต้น
----------------------------------------------
ข้อมูล : ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เชียงใหม่
ข่าว : วรรณกร ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์