วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานเปิดงานมหกรรมกระบือแห่งชาติ ครั้งที่ 25 ประจำปี 2566 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการกรมปศุสัตว์ คณะกรรมการจัดงานมหกรรมกระบือแห่งชาติ ผู้นำเครือข่าย เกษตรกรด้านปศุสัตว์ เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้ที่สนใจ เข้าร่วมงาน ณ สวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา จังหวัดสกลนคร ทั้งเพื่อแสดงผลงานการพัฒนาพันธุกรรมสัตว์ และเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน นอกจากนี้เป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรและประชาชนที่สนใจให้ความสำคัญในอาชีพการเลี้ยงกระบือ เพื่อการผลิตที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มกระบือของจังหวัดสกลนครด้วย
นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า ภาครัฐโดยกรมปศุสัตว์ส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์เป็นอาชีพโดยเฉพาะการเลี้ยงกระบือ ซึ่งในปัจจุบันกระบือมีเกษตรกร ประชาชนผู้สนใจหันมาเลี้ยงกระบือเพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคากระบือพ่อแม่พันธุ์มีมูลค่าสูงขึ้น สำหรับการจัดงานมหกรรมกระบือแห่งชาติในครั้งนี้ ก่อให้เกิดการพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าด้านการเกษตรที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลิตอาหารปลอดภัยสู่โต๊ะอาหารของผู้บริโภคทุกคน เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเชิงอนุรักษ์และพัฒนาได้เป็นอย่างดี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือว่าเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องดำเนินการสานต่อและต่อยอดการพัฒนา
กรมปศุสัตว์ได้มอบหมายให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมกระบือแห่งชาติ ครั้งที่ 25 ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์เขต 4 องค์กรต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 5 กุมภาพันธ์ 2566 โดยในงานมีกิจกรรมการประกวดกระบือ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การแข่งขันลาบ ชิงแชมป์โลก การจัดแสดงสินค้าที่ขึ้นชื่อของจังหวัดภายในงาน โดยจัดเป็นถนน 3 สาย คือ สายที่ 1 ถนนผ้าคราม สายที่ 2 ถนนคนชอบกัญ สายที่ 3 ถนนคนชอบเนื้อ การจัดแสดงผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ การแสดงสัตว์พันธุ์ดีของกรมปศุสัตว์ การแสดงรูปแบบฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ดีมีความปลอดภัยต่อโรคระบาด การแสดงนวัตกรรม การเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการ การแสดงผลิตภัณฑ์และการแปรรูปปศุสัตว์ ตลอดทั้งการแสดงและจำหน่ายผลผลิตปศุสัตว์จากเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจหันกลับมาพัฒนาทรัพยากรด้านการเลี้ยงสัตว์ ด้านการเกษตรที่ตนเองมีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้องค์ความรู้ที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการร่วมชมงาน ศึกษาดูงาน กลับไปต่อยอดการพัฒนาการเลี้ยงกระบือเป็นอาชีพหลัก ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น สร้างความตระหนักให้เกษตรกรและผู้สนใจในการเลี้ยงกระบือเพื่อการผลิตที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น
-------------------------------------------------
ข้อมูล : สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร, กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : จิราภรณ์ เกตุบูรณะ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมปศุสัตว์