วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.30 น นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ ครั้งที่ 2/2566 พร้อมด้วยน.สพ. รักไทย งามภักดิ์ ผอ. สพส. นายกฤติพิพัฒน์ รัตนนาวินกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและพัฒนาสัตว์ปีก กสส. และผู้แทนจาก สพส. กสส. สคบ. กสก. ภาคเอกชน สมาคม สหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมพระพิรุณ ชั้น 1 ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์ พญาไท
การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอสถานการณ์ไก่ไข่ปัจจุบัน โดยคาดการณ์ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ไตรมาส 4/65 เฉลี่ยฟองละ 3.47 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนไตรมาส 3/65 พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.06 เนื่องจากค่าแรงงาน ค่าพันธุ์สัตว์ ราคาอาหารสัตว์ ค่าวัคซีนและยาป้องกันโรค ค่าน้ำ ค่าไฟ ปรับตัวสูงขึ้น เสนอการดำเนินมาตรรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ของกรมปศุสัตว์ โดยมีมาตรการขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่ปลดไก่ที่อายุเหมาะสม เช่น ผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกราย เร่งปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 80 สัปดาห์ ยกเว้นรายย่อยที่เลี้ยงต่ำกว่า 30,000 ตัว ที่ไม่ใช่ฟาร์มในระบบเกษตรพันธะสัญญาของผู้ประกอบการรายใหญ่ ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ที่เลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป เร่งปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 78 สัปดาห์ อีกทั้ง มาตรการขอความร่วมมือผู้ประการรายใหญ่ ผลักดันการส่งออกหรือปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนด และมาตรการขอความร่วมมือไม่นำไข่เชื้อไก่เนื้อมาจำหน่ายเป็นไข่ไก่สดเพื่อบริโภค เสนอการเปิดตลาดส่งออกไข่ไก่สดไปไต้หวัน ตั้งแต่เดือนมีนาคม - มิถุนายน 2566 รวม 23,469,250 บาท เสนอสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ ประกอบด้วย ราคาวัตถุดิบทดแทน เช่น ปลายข้าวอยู่ที่ 13.65 บาท/กก. และมันเส้นอยู่ที่ 9.23 บาท/กก. การนำเข้าวัตถุดิบ เช่น ปริมาณข้าวโพด เปิดให้นำเข้าได้ตั้งแต่ 1 ก.พ. ปริมาณนำเข้าสิ้นสุด ณ เมษายน อยู่ที่ 5.83 แสนตัน ปริมาณนำเข้าข้าวสาลี ยังคงต้องดำเนินตามมาตรการควบคุมการนำเข้า 3 : 1 ส่วน (ซื้อข้าวโพด 3 ส่วนแลกนำเข้า 1 ส่วน) ปริมาณน้ำเข้าสิ้นสุด ณ เมษายน อยู่ที่ 6.30 แสนตัน และเสนอผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ ซึ่งมีการออกหนังสือเรียกเก็บเงินไปแล้ว ตั้งแต่พฤษภาคม 2563 - มิถุนายน 2566 จำนวน 70,605,550 บาท เก็บจากผู้นำเข้า GP ตัวละ 100 บาท และ PS ตัวละ 50 บาท ผู้ประกอบการได้ทยอยจ่ายเงินเข้ามายังกองทุนฯ ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ได้รับเงินเข้าบัญชีเงินฝากแล้ว จำนวน 65,150,873 บาท ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคาร รวม 149,387.90 บาท รวมรายรับ 65,300,261.34 บาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการสำหรับฟาร์มไก่ไข่ที่ปลดไก่ไข่ยืนกรงเกินอายุที่เหมาะสม โดยได้จัดทำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์ มาตรการ และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการปลดไก่ไข่ตามอายุที่เหมาะสม และพิจารณาประสิทธิภาพการผลิตไก่ไข่และไข่ไก่ปี 2567 โดย ปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) 1 ตัว ผลิตลูกพ่อแม่พนธุ์ไก่ไข่ (PS) ได้ 77 ตัว ปลดที่อายุ 72 สัปดาห์ พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS)ผลิตลูกไก่ไข่เพศเมียได้ 107 ตัว ปลดอายุที่ 72 สัปดาห์ แม่ไก่ไข่ยืนกรง 1 ตัว ผลิตไข่ไก่ได้ 361 ฟอง ปลดที่อายุ 80 สัปดาห์ เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาต่อไป
ข้อมูล : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์
เรียบเรียงข่าว : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ