วันที่ 4 มีนาคม 2562 เวลา 15.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน บ้านกระเบื้อง ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี มีผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเจ้าหน้าที่มูลนิธิชัยพัฒนา เฝ้ารับเสด็จฯ พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์และคณะ ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ และกราบบังคมทูลรายงานข้อมูลในส่วนของกรมปศุสัตว์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จทอดพระเนตรวัว ซึ่งนางสาวสุพัตรา ชัยวิฆเนศ น้อมเกล้าฯ ถวายจำนวน 32 ตัว เพื่อพระราชทานแก่สมาชิกกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน บ้านกระเบื้อง ที่ไม่ใช้สารเคมีในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับสมาชิกผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน บ้านกระเบื้อง และทรงเยี่ยมราษฎร การดำเนินงานของกรมปศุสัตว์ด้านตรวจสุขภาพโคเนื้อพระราชทานจำนวน 32 ตัว (เพศผู้ 15 ตัว เพศเมีย 17 ตัว และมีลูกเกิดใหม่ 1 ตัว) อายุระหว่าง 6 เดือนถึง 7 ปี ได้ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) และโรคเฮโมรายิก เซพติคซีเมีย (HS) ทำการถ่ายพยาธิ และให้ยาบำรุง มีการตรวจสุขภาพ ได้แก่ ทดสอบโรควัณโรค โรคบรูเซลลา ตรวจเลือด ตรวจพยาธิในเลือด และตรวจพยาธิเม็ดเลือด ซึ่งโคทุกตัวมีสุขภาพที่ดี เกษตรกรสามารถนำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ต่อไปได้ นอกจากนี้ ได้กราบบังคลทูลฯ ขอพระราชทาน พระราชานุญาต น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายหมูดำเชียงใหม่ จำนวน 4 ตัว (เพศผู้ 2 ตัว และเพศเมีย 2 ตัว) และเป็ดเทศกบินทร์บุรี จำนวน 12 ตัว (เพศผู้ 2 ตัว และเพศเมีย 10 ตัว) เพื่อทรงใช้ประโยชน์ตามที่ทรงมีพระราชวินิจฉัยต่อไป และกราบบังคลทูลฯ รายงานเพิ่มเติม เรื่อง 1. เป็ดเทศกบินทร์บุรี ซึ่งพัฒนามาจากพันธุ์บาร์บารี ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเมื่อปี พ.ศ. 2534 จำนวน 80 ตัว นำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส นำไปใช้ประโยชน์เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการผลิตเป็ดเนื้อ เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็ว ขยายพันธุ์ได้ดี ต้านทานโรค และปรับตัวเข้ากับภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมไทยได้ดี ปัจจุบันอยู่ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ปีกปราจีนบุรี อุบลราชธานี สุพรรณบุรี กระบี่ นครพนม ศรีสะเกษ และสงขลา ผลิตลูกได้ 234,400 ตัว 2. หมูดำเชียงใหม่ เป็นการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ ผสมผสานพันธุกรรมระหว่างสุกร 4 สายพันธุ์ เพื่อพัฒนาให้เป็นสุกรพันธุ์ที่ดีให้เนื้อนุ่ม มีไขมันแทรก เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคที่ต้องการเนื้อคุณภาพสูง สุกรที่นำมาพัฒนาพันธุ์ประกอบด้วย พันธุ์เปียแตรงและพันธุ์พื้นเมืองไทย (สายพ่อพันธุ์) พันธุ์เหมยซานและพันธุ์ดูร็อค (สายแม่พันธุ์) มีการขยายการผลิตและการนำไปใช้ประโยชน์ไปยังหน่วยงานต่างๆ 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน ศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือ และศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์สุราษฎร์ธานี เพื่อพัฒนา ส่งเสริม และกระจายพันธุ์สู่เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ณ ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์
{gallery}news_dld/2562/2562_03_04c/{/gallery}
ภาพ ฉัตรชัย นวลปลอด สลก. เผยแพร่
ข่าว กรมปศุสัตว์