เมื่อถึงช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว จะส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกหนัก บางพื้นที่น้ำท่วมขังและเปียกชื้น บางพื้นที่เริ่มมีอากาศหนาวเย็น ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพสัตว์โดยตรง ทำให้สัตว์อ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ โรคที่พบได้บ่อย มักเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินระบบหายใจ รวมถึงโรคติดเชื้อต่างๆ ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน

          โรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในกลุ่มสัตว์ใหญ่ คือ โรคคอบวม โรคปากและเท้าเปื่อย และโรคพยาธิในกระแสเลือด สำหรับสุกรโรคที่ต้องเฝ้าระวังคือ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โรคท้องเสียในสุกร โดยมักมี PRRS (เป็นโรคหรือกลุ่มอาการในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร) ร่วมด้วย ทำให้เกิดความสูญเสียที่รุนแรงขึ้น นอกจากนั้นยังจะต้องระมัดระวังในด้านสุขอนามัยในการบริโภคด้วย ส่วนสัตว์ปีกให้ดูแลในด้านการควบคุมโรคอหิวาต์เป็ด-ไก่ โรคกาฬโรคเป็ด และกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง สำหรับสัตว์เลี้ยงโรคสำคัญที่พบบ่อย คือ โรคพิษสุนัขบ้า จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นภาพรวมของโรคที่จะเกิดขึ้นในสัตว์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม สามารถแยกชนิดสัตว์เพื่อระบุโรคที่เกี่ยวข้องได้

          โค กระบือ แพะ แกะ ช่วงการเปลี่ยนแปลงของอากาศจากฤดูฝนมาเป็นฤดูหนาว เป็นช่วงที่เชื้อโรคต่างๆ จากพื้นดินอยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ทำให้สัตว์ต่างๆ มีโอกาสที่จะได้สัมผัสรับเชื้อโรคเหล่านี้สูงมากขึ้น และสัตว์ที่ไม่ได้รับการทำวัคซีน ระดับภูมิคุ้มกันก็มีโอกาสต่ำ ทำให้สัตว์มีโอกาสเกิดโรคต่างๆ ตามที่ได้สัมผัสกับเชื้อโรคนั้นๆ เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย (โรคคอบวม) ซึ่งเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในกระบือ แม้โรคนี้จะไม่ติดคน แต่หากเกิดการระบาดของโรคในวงกว้างจะทำให้เกิดความเสียหายในทางเศรษฐกิจด้านปศุสัตวเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ พยาธิก็มีมากมาย มีการกระจายตามทุ่งหญ้าต่างๆ เมื่อสัตว์เข้าไปกินอาหารในทุ่งหญ้าเหล่านั้น ก็มีโอกาสติดพยาธิได้เช่นกัน จึงขอให้เกษตรกรช่วยกันดูแลสุขภาพสัตว์ให้มาก เช่น ควรมีการตรวจสุขภาพสัตว์ประจำปี ทำวัคซีนในช่วงสัตว์มีสุขภาพที่ดี ตรวจอุจจาระเพื่อหาพยาธิและมีการถ่ายพยาธิอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เสริมก้อนแร่ให้กับสัตว์เพื่อ ช่วยเสริมให้สัตว์มีสุขภาพดีขึ้น หญ้าที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ควรตัดและตากแดดไว้ 1-2 แดด เพื่อลดปริมาณตัวอ่อนพยาธิที่ติดตามใบหญ้า ถ้าสัตว์มีสุขภาพผิดปกติ เช่น ซึม ไม่กินอาหาร ถ่ายอุจจาระผิดปกติ ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ในพื้นที่ และก่อนซื้อสัตว์จากฟาร์มอื่น ควรเช็ดดูว่าฟาร์มนั้นเคยเกิดโรคก่อนหน้านี้หรือไม่ เพื่อเตรียมการป้องกันไม่เกิดปัญหาขึ้นในฟาร์มของเรา เช่น โรคแท้งติดต่อ เป็นต้น ถ้า มียุง เหลือบแมลงวันคอก เป็นจำนวนมาก ควรมีมุ้งครอบคอกสัตว์ในช่วงกลางคืน

          สุกร ช่วงปลายฝนต้นหนาว ชาวเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรควรเตรียมตัวรับมือกับปัญหาที่พบเจอได้บ่อยในช่วงเปลี่ยนฤดู ซึ่งก่อความสูญเสียอย่างมากในสุกรอนุบาล หรือสุกรเล็ก ด้วยปัญหาอาการชัก ร่วมกับลักษณะข้อต่อบวมอักเสบ จากติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส โดยเชื้อนี้ยังมีความสำคัญทางการสาธารณสุข เพราะสามารถติดต่อสู่คนได้ รู้จักกันในชื่อไข้หูดับ ซึ่งรุนแรงถึงขั้นโคม่าและเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังมีโรค PRRS (เพิร์ส) เป็นกลุ่มอาการของโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร ทำให้แม่สุกรแท้ง ลูกตายแรกคลอดสูง อัตราการผสมติดต่ำ ลูกสุกรแคระแกร็น โตช้า ติดโรคอื่นๆ แทรกซ้อนได้ง่าย จึงเป็นโรคที่สร้างความเสียหายอย่างมากให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร การส่งผ่านโรคจะเกิดขึ้นระหว่างตัวสุกรด้วยกันเองผ่านทางการหายใจและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และยังสามารถติดต่อได้จากการปนเปื้อนวัสดุต่างๆ เช่น ติดต่อผ่านอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆ อาหาร โรงเรือน ยานพาหนะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งเคลื่อนย้ายสุกร รวมถึงแมลงพาหะ เช่น ยุงหรือแมลงวัน เป็นต้น และโรคปากและเท้าเปื่อย โดยสัตว์ป่วยมักมีอาการน้ำลายไหล เกิดเม็ดตุ่มที่เยื่อ ชุ่มบริเวณปาก และ ไรกีบ ทำให้สัตว์เจ็บปาก กินอาหารไม่ได้ เดินกะเผลก กีบหลุด ซูบผอม เลี้ยงไม่โต ผลผลิตน้ำนมลดลง สามารถติดต่อได้หลายทาง เช่น การกินเอาเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร น้ำ หรือหญ้า การหายใจเอาเชื้อที่ปะปนอยู่ในอากาศและฝุ่นละออง หรือการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เป็นโรคจะทำให้เชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเชื้อโรคที่ติดตามร่างกาย เสื้อผ้า รองเท้าของคนหรือพาหนะก็สามารถแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นได้ จึงขอให้เกษตรกรดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงในช่วงปลายฝนต้นหนาวเป็นพิเศษ ให้สัตว์มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ของเกษตรกรที่เลี้ยงแบบปล่อยให้อยู่กับธรรมชาติ ไม่มีโรงเรือนหรือที่กันแดดกันฝน ส่งผลให้สัตว์สุขภาพอ่อนแอ เจ็บ ป่วยได้ง่าย นอกจากนั้นต้องป้องกันไม่ให้สัตว์ไปสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้ เกิดโรค เจ้าของต้องหมั่นสังเกตอาการ สัตว์อย่างสม่ำเสมอ

          สัตว์ปีก ช่วงฤดูหนาวและมีฝนตกในบางพื้นที่ จากสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงทำให้สัตว์ปีกเกิดความเครียด อ่อนแอลง และภูมิคุ้มกันโรคลดลง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดในสัตว์ปีกขึ้นได้ ซึ่งได้แก่ โรคไข้หวัดนก นิวคาสเซิล และอหิวาต์สัตว์ปีก โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนกที่ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบโรคนี้มานาน แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่โรคนี้อาจกลับมาแพร่ระบาดในประเทศไทยได้อีก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน มีการอพยพของนกอพยพจากซีกโลกเหนือ การระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศต่างๆ ทำให้ต้องเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น การเลี้ยงในสภาพโรงเรือนเปิดควรมีการป้องกันลมพัดโกรก ส่วนโรงเรือนปิดควรตรวจสอบระบบระบายอากาศและควบคุมอุณหภูมิ ให้มีการทำงานเป็นปกติอยู่เสมอ สำหรับลูกสัตว์ปีกควรดูแลเรื่องไฟกกให้มีความอบอุ่นไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป การนำเข้าสัตว์ใหม่ควรมั่นใจว่าสัตว์ปลอดโรคจริงๆ (ควรพิจารณาแหล่งที่มาของสัตว์) ให้เข้มงวดในด้านการจัดการ ระบบสุขาภิบาลของฟาร์ม  รวมถึงความสะอาดของน้ำ อาหาร ต้องปราศจากการปนเปื้อน มีการกำจัดแมลง สัตว์พาหะต่างๆ ภายในโรงเรือน โดยใช้เครื่องดักจับ สิ่งสำคัญ คือ มีโปรแกรมการทำวัคซินและถ่ายพยาธิตามกำหนด

          ดังนั้นต้องป้องกันไม่ให้สัตว์ไปสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้ เกิดโรค เจ้าของต้องหมั่นสังเกตอาการ สัตว์อย่างสม่ำเสมอ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุไม่ควรนำซากสัตว์ไปประกอบอาหาร ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที

*************************

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ และสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์

เรียบเรียงโดย นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ