จากข่าวที่มีการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนและสื่อโซเชียลมากมาย เกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าสัตว์และซากสัตว์ผิดกฎหมาย ยิ่งเข้มงวดในการตรวจสอบก็ยิ่งเจอ แล้วจะทำอย่างไรให้สินค้าที่นำเข้ามาถูกกฎหมาย วันนี้ผู้เขียนมีคำตอบ

การดำเนินการให้ปฏิบัติตามประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง การขออนุญาต การออกใบอนุญาต วิธีการนำเข้า - ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยมีขั้นตอนคือ 

1. การดำเนินการล่วงหน้าก่อนนำเข้าสัตว์ หรือซากสัตว์

    1.1 ผู้ประกอบการ ยื่นแบบคำขออนุญาตนำสัตว์/ซากสัตว์ เข้า ออก ผ่านราชอาณาจักรไทย (แบบ ร.1/1) ผ่านระบบการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e - movement system) ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ โดยมีเอกสารประกอบคือ

          † สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทาง

          † สำเนาทะเบียนบ้าน

          † สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท หนังสือมอบอำนาจ (กรณีนิติบุคคล)

          † ใบอนุญาตทำการค้า หรือหากำไรในลักษณะคนกลางซึ่งสัตว์

          † สำเนาหนังสือรับรองสถานกักกันสัตว์เพื่อการนำเข้า (ตร.4) หรือสำเนาหนังสือรับรองสถานกักเก็บซากสัตว์เพื่อการนำเข้า (ตรซ.4)

          † เอกสารแสดงหมายเลขประจำตัวสัตว์ เช่น ห่วงขา ไมโครชิฟ หรือเบอร์หู

          † สำเนาใบรับรองสุขภาพสัตว์ (Health certificate) (ถ้ามี)

          † Invoice ,Airway bill หรือ Bill of lading ,Packing list (ถ้ามี)

     1.2 สัตวแพทย์ประจำด่านกักกันสัตว์ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร กรณีเป็นสินค้าปศุสัตว์ ยกเว้นสัตวเลี้ยง (เช่น สุนัข และแมว) จะต้องมาจากแหล่งผลิตต่างประเทศที่ผ่านการตรวจรับรองจากกรมปศุสัตว์ และสภาวะโรคของประเทศต้นทางตาม แหล่งข้อมูลองค์การสุขภาพสัตว์โลก World  Organisation for Animal Health (OIE) หากผลการตรวจสอบ “ผ่าน” จึงเสนอผู้มีอำนาจลงนามอนุมัติ และออกใบแจ้งอนุญาตนำสัตว์/ซากสัตว์เข้าราชอาณาจักร (Notification for importation of Animals/Animal Products) พร้อมกับแนบเอกสารเงื่อนไขการนำเข้าสัตว์หรือซากสัตว์แต่ละประเภทเข้าสู่ราชอาณาจักรไทย (Requirement for the importation of animals products into the Kingdom of Thailand) เพื่อมอบให้ผู้ประกอบการส่งไปยังประเทศต้นทาง

      1.3 เมื่อใกล้วันที่สัตว์หรือซากสัตว์จะถูกลำเลียงมาถึงท่าเข้าให้ผู้รับอนุมัติแจ้งยืนยัน รายละเอียดการนำเข้าต่อสัตวแพทย์ประจำท่าเข้าเกี่ยวกับ วัน เวลา ที่นำเข้า และเที่ยวบิน เที่ยวเรือ หรือเที่ยวขบวนรถไฟ หรือทะเบียนยานพาหนะที่ใช้บรรทุกสัตว์ หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักรพร้อมแนบเอกสารประกอบดังนี้

           † ใบรับรองสุขภาพสัตว์ (Health certificate) สำเนา หรือฉบับจริง ซึ่งออกให้โดยสัตวแพทย์รัฐบาลผู้มีอำนาจตามจากประเทศต้นทาง และต้องตรงตาม Requirement ที่กรมปศุสัตว์กำหนดทุกประการ

           † Invoice ,Airway bill หรือ Bill of lading ,Packing list

           † สำเนาใบขนสินค้า

      1.4 ด่านกักกันสัตว์ออกใบแจ้งอนุญาตนำสัตว์ ซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร (แบบ ร.6) ให้ผู้ประกอบการนำไปติดต่อที่ด่านศุลกากรประจำท่าเข้านั้น

2. การดำเนินการระหว่างนำเข้าสัตว์ หรือซากสัตว์

    2.1 เมื่อสัตว์ หรือซากสัตว์มาถึงท่าเข้าของประเทศไทย ผู้ประกอบการยื่นเอกสารประกอบการนำเข้าต่อเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าปศุสัตว์ พร้อมแนบหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์ หรือหนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ (Health Certificate) ฉบับจริง

    2.2 เจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ด่านกักกันสัตว์ ทำการตรวจเอกสาร สุขภาพสัตว์เบื้องต้น ชนิด จำนวน และเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ หรือเครื่องหมายบรรจุภัณฑ์

          † กรณีสัตว์หรือซากสัตว์ปกติ ตรงตามเงื่อนไขการนำเข้า จะออกใบอนุญาตนำสัตว์เข้าในราชอาณาจักร (Import permit of animal(s) / animal product(s) (แบบ ร.7) พร้อมเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตดังกล่าว

          † กรณีพบสัตว์ ซากสัตว์ผิดปกติ หรือไม่ตรงตามเงื่อนไขการนำเข้า ด่านกักกันสัตว์จะพิจารณาส่งกลับหรือทำลาย

3. การดำเนินการหลังนำเข้าสัตว์ หรือซากสัตว์

    3.1 ออกใบบันทึกสั่งกักสัตว์ หรือซากสัตว์ ไปยังสถานกักกันสัตว์เพื่อการนำเข้า หรือ สถานเก็บกักซากสัตว์เพื่อการนำเข้าที่กรมปศุสัตว์รับรอง

    3.2 ออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร (แบบ ร.3, แบบ ร.4 ,แบบ ร.5)

    3.3 เจ้าหน้าที่ทำการเก็บตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ทั้งนี้ หากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบโรคใดๆ จะทำการถอนบันทึกสั่งกักสัตว์หรือซากสัตว์นั้น แต่หากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบโรคระบาด จะทำการทำลายสัตว์หรือซากสัตว์นั้นทันที


ข้อมูล : กองสารวัตรและกักกันสัตว์ กรมปศุสัตว์