ในยุคที่ความต้องการบริโภคเนื้อโคเกรดพรีเมี่ยมที่มีไขมันแทรกและเนื้อนุ่มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตโคเนื้อเพื่อการค้าทั้งในและต่างประเทศ จึงไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและลดการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศ
กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อใหม่ที่ชื่อว่า “ไทยแบล็ค DLD” ซึ่งเป็นโคเนื้อสายพันธุ์ไทยที่มีไขมันแทรกสูง เนื้อนุ่ม และเลี้ยงง่าย โดยเป็นการผสมผสานพันธุกรรมระหว่างโคไทยพื้นเมือง โคพันธุ์แองกัส และโคพันธุ์วากิว เพื่อสร้างสายพันธุ์โคที่ตรงกับความต้องการของตลาดและเพิ่มศักยภาพ
การแข่งขันในอุตสาหกรรมโคเนื้อของไทย
“ไทยแบล็ค DLD” เป็นผลงานการพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อของกรมปศุสัตว์ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโคเนื้อคุณภาพสูงที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเน้นที่เนื้อโคเกรดพรีเมี่ยมที่มีไขมันแทรกและเนื้อนุ่ม โดยใช้โค 3 สายพันธุ์ที่มีจุดเด่นเฉพาะตัว ได้แก่ โคไทยพื้นเมือง (12.5%) ที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศร้อน ทนโรค ทนแมลง เลี้ยงง่าย และให้ลูกดก โคพันธุ์แองกัส (12.5%) ที่ให้เปอร์เซ็นต์ซากสูง เนื้อนุ่ม และมีอัตราการเจริญเติบโตดี และโคพันธุ์วากิว (75%) ที่มีไขมันแทรกสูงและเนื้อนุ่มเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งการผสมผสานพันธุกรรมนี้ทำให้ “ไทยแบล็ค DLD” มีจุดเด่นทั้งในด้านการเลี้ยงดูที่ง่าย เหมาะกับสภาพแวดล้อมของไทย และยังให้เนื้อที่มีคุณภาพสูง ไขมันแทรกสม่ำเสมอ เนื้อนุ่ม และมีรสชาติอร่อย
กรมปศุสัตว์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในการพัฒนาสายพันธุ์ “ไทยแบล็ค DLD” เพื่อให้ได้โคเนื้อที่มีคุณภาพมาตรฐานสูงและตรงกับความต้องการของตลาด โดยมีกระบวนการสำคัญดังนี้
- เทคโนโลยีจีโนม : การคัดเลือกสายพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีจีโนมช่วยให้ได้โคที่มีพันธุกรรมที่แม่นยำและสามารถตรวจสอบยีนไขมันแทรกในลูกโคได้ตั้งแต่แรกเกิด ทำให้เกษตรกรสามารถคัดเลือกโคขุนที่มีคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การประเมินซากขณะโคมีชีวิตด้วยอัลตราซาวด์ : การใช้เครื่องอัลตราซาวด์เพื่อประเมินคุณภาพเนื้อโคขณะยังมีชีวิต ช่วยให้เกษตรกรทราบถึงคุณภาพเนื้อก่อนส่งขาย ทำให้สามารถวางแผนการขุนและเพิ่มมูลค่าโคขุนได้ดียิ่งขึ้น
- การย้ายฝากตัวอ่อน : เทคโนโลยีการย้ายฝากตัวอ่อนช่วยขยายพันธุ์โค “ไทยแบล็ค DLD” ได้อย่างรวดเร็ว และกระจายพันธุ์ไปสู่ฟาร์มเกษตรกรได้อย่างกว้างขวาง
- การผสมเทียม : การผลิตน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ชั้นเลิศและกระจายพันธุกรรมผ่านการผสมเทียม ช่วยให้เกษตรกรสามารถขยายฝูงโค “ไทยแบล็ค DLD” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการใช้นวัตกรรมในการสร้างโค ทำให้ได้ “ไทยแบล็ค DLD” ที่มีจุดเด่นเนื้อนุ่มและไขมันแทรกสูง ซึ่งเนื้อของ “ไทยแบล็ค DLD” มีไขมันแทรกสม่ำเสมอและเนื้อนุ่ม ตรงกับความต้องการของตลาดผู้บริโภคที่นิยมเนื้อโคเกรดพรีเมี่ยม นอกจากนี้ ยังเลี้ยงง่ายและทนทาน เนื่องจากมีพันธุกรรมของโคไทยพื้นเมือง ทำให้ “ไทยแบล็ค DLD” ทนต่อสภาพอากาศร้อน ทนโรค และทนแมลง รวมถึงมีประสิทธิภาพในการใช้อาหารดีกว่าโคสายพันธุ์อื่นๆ สามารถขุนได้ในระยะเวลาสั้น โดยเริ่มขุนที่อายุ 600 วัน น้ำหนักเฉลี่ย 400-450 กิโลกรัม และสิ้นสุดการขุนที่อายุไม่เกิน 36 เดือน น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 600 กิโลกรัม คุณภาพซากไม่ต่ำกว่า 60% และไขมันแทรกไม่ต่ำกว่า 10% (เกรด 4 ขึ้นไป) ลักษณะดังกล่าว ทำให้การเลี้ยงโค “ไทยแบล็ค DLD” เป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เนื่องจากโคมีคุณภาพสูงและสามารถขายได้ในราคาดี
“ไทยแบล็ค DLD” ถือเป็นความสำเร็จของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อของไทย เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เนื้อโคคุณภาพสูงที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาสายพันธุ์นี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร แต่ยังช่วยลดการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศ และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในระยะยาว ด้วยจุดเด่นทั้งในด้านคุณภาพเนื้อ การเลี้ยงดูที่ง่าย และความทนทาน “ไทยแบล็ค DLD” จึงเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของประเทศไทยในการสร้างสายพันธุ์โคเนื้อที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคที่ชื่นชอบเนื้อโคเกรดพรีเมี่ยม
*****************************
ข้อมูล : สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
เรียบเรียงโดย : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม