การผลิตหญ้าแพงโกลาแห้งคุณภาพดี  มีปัจจัยเกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน  การปลูก  การจัดการน้ำ – ปุ๋ย  การตัด  การอัดฟ่อน  การเก็บรักษา  ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์  สถานีพัฒนาอาหารสัตว์ ผลิตหญ้าแพงโกลาแห้งเป็นส่วนใหญ่  หญ้าแพงโกลามีลักษณะลำต้นเล็ก  จำนวนต้นต่อตารางเมตรหนาแน่นมาก  เหมาะสำหรับทำหญ้าแห้งได้ดี  ในการตัดหญ้าผลิตหญ้าแห้งมีเครื่องตัดติดท้ายรถฟาร์มแทรกเตอร์หลายแบบ  อาทิ  เครื่องตัดหญ้าแบบดรัมโมเวอร์  เครื่องตัดหญ้าแบบดิสโมเวอร์  เครื่องตัดหญ้าแบบโรตารี่  เป็นต้น  ซึ่งแต่ละเครื่องมีลักษณะการใช้งานและประสิทธิภาพแตกต่างกัน 

                สถานีพัฒนาอาหารสัตว์หนองคายใช้เครื่องตัดหญ้าแบบโรตารี่เป็นเครื่องตัดหญ้าสำหรับผลิตหญ้าแห้ง  เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ติดท้ายรถฟาร์มแทรกเตอร์ ขนาด 50 แรงม้าขึ้นไป  เหมาะสำหรับตัดหญ้าในแปลงขนาดใหญ่  สามารถตัดหญ้าที่มีความหนาแน่นได้ดี  ใช้งานได้ในเกือบทุกสภาพพื้นที่ที่รถฟาร์มแทรกเตอร์เข้าปฎิบัติงานได้  ลักษณะใบตัดของเครื่องตัดหญ้าแบบโรตารี่  เป็นแท่งเหล็กสี่เหลี่ยมแบน  ความหนาประมาณ 12 มิลลิเมตร  จำนวน 2 ใบ ไม่มีความคมของใบตัด  ลักษณะการทำงานใช้แรงเหวี่ยงหมุนตีให้หญ้าหรือพืชขาดและหลุดจากลำต้น  แนวคิดในการปรับแต่งใบมีดเครื่องตัดหญ้าแบบโรตารี่  เพื่อเสริมความคมให้กับใบมีด เพิ่มประสิทธิภาพในการตัดหญ้าได้สั้นชิดพื้นดิน  ลดการแตกช้ำของตอหญ้าแพงโกลา  โดยใช้เหล็กจากใบมีดจอบหมุนที่สึกกร่อนตามอายุการใช้งานแล้วมาดัดแปลงทำเป็นใบตัดหญ้าต่อเสริมเข้ากับใบมีดเดิมของเครื่องตัดหญ้าแบบโรตารี่

                        วิธีดำเนินการ  นำใบมีดจอบหมุนเก่ามาทำการตัดแต่งหัวและท้ายให้มีความยาว  9  เซนติเมตร  นำใบมีดที่ตัดแต่งแล้วมาเชื่อมต่อกับใบมีดโรตารี่  ให้ได้ความยาวเท่ากับความยาวฝาครอบโรตารี่และชิดกับสกีของโรตารี่  และทำการปรับแต่งให้ใบมีดคมขึ้น  ประกอบใบมีดเข้าเครื่องตัดโรตารี่  (ใบมีดโรตารี่ “ KMT ” ก่อนการเชื่อมต่อ มีความยาว  32  ซม. หรือ ประมาณ  12.5 นิ้ว  ใบมีดตารี่ที่เชื่อมต่อแล้ว มีความยาว  41  ซม.หรือประมาณ  16.5 นิ้ว  การเชื่อมต่อระหว่างใบมีดจอบหมุนและใบมีดโรตารี่  ต้องใช้ลวดเชื่อมที่มีลักษณะพิเศษ  เช่น  YAVATA L55 หรือ YAVATA L350 )

                         ประสิทธิภาพของการปรับแต่งใบมีดโรตารี่ คือ ลดการสูญเสียหญ้าแพงโกลาที่ตกค้างในแปลงผลิตที่เกิดจากการตัดจากใบมีดเดิมไม่ขาดและตัดได้ไม่ชิดดิน ประมาณ 30%  ที่ตกค้างในแปลง   หญ้าฯ ที่ตัดด้วยใบมีดปรับแต่งจะไม่ป่นละเอียดเกินไป  อัดเป็นฟ่อนได้ง่ายฟ่อนไม่แตก ปฎิบัติงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น  ต้นทุนต่ำ มีความทนทานไม่สึกหรอเร็ว  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถานีพัฒนาอาหารสัตว์หนองคาย  โทร.  0 – 4241 - 4717

*******************************************************

ข้อมูล : สำนักพัฒนาอาหารสัตว์  กรมปศุสัตว์

เรียบเรียง : พิจารณา  สามนจิตติ  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์  สำนักงานเลขานุการกรม