ในการเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น โค กระบือ แพะ แกะ สัตว์ปีก ไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ เป็ด เป็นต้น ผู้เลี้ยงสัตว์จำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เพื่อเป็นแนวทางป้องกันการสูญเสียสัตว์เลี้ยงของตนเอง ในตอนนี้ กรมปศุสัตว์ขอเสนอ การป้องกันโรคในสัตว์ปีก โดยเฉพาะไก่ ไม่ว่าจะเป็นไก่พื้นเมือง ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ซึ่งจะเป็นการป้องควบคุม ป้องกัน ไม่ให้เชื้อโรคต่างๆ เข้ามาติดไก่ของเราได้ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
การจัดการพื้นที่เลี้ยง หรือ โรงเรือน โรงเรือนควรตั้งอยู่บนที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงและแห้ง ควรสูงจากพื้นดินอย่างน้อย 30 เซนติเมตร โรงเรือนควรตั้งในแนวทิศตะวันออก ไปทางทิศตะวันตก มีการถ่ายเทอากาศที่ดี ต้องไม่โดนฝน และลมโกรก มีพื้นที่ให้ไก่ได้เดินเล่น หรือออกกำลังกาย มีรั้วตาข่ายแบ่งพื้นที่เลี้ยงไก่ให้เป็นสัดส่วน และมีตาข่ายป้องกันนกหนู ควรมีประตูเข้า- ออกทางเดียว มีบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ก่อนเข้าฟาร์ม ควรพักโรงเรือน 2 สัปดาห์ ก่อนนำไก่รุ่นใหม่เข้ามาเลี้ยง
การทำความสะอาดโรงเรือนและอุปกรณ์ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมากในการเลี้ยงไก่เพราะการทำความสะอาด จะเป็นการทำลายเชื้อโรค ที่อาจติดมากับอากาศ หรือสัตว์พาหะอื่น เช่น นก หนู ฯลฯ ดังนั้น การทำความสะอาดโรงเรือน และอุปกรณ์ให้สะอาดอยู่เสมอ จะเป็นการช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้ไก่ไข่มีสุขภาพดีต่อสู้กับเชื้อโรคได้ โดยผู้เลี้ยงควร เก็บ กวาด ขี้ไก่ เสมอ ปัด กวาด หยากไย่ กลับแกลบรองพื้น เปลี่ยนน้ำ – เปลี่ยนอาหารไก่ไข่ทุกวัน ตรวจดูรั้ว ตาข่าย ให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ และฉีดพ่นน้ำยา ฆ่าเชื้อโรคให้ทั่วทุกซอกทุกมุม โดยผสมน้ำยาฆ่าเชื้อตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ที่ฉลากข้างขวด
คน สามารถนำเชื้อโรคเข้ามายังฟาร์มเลี้ยงไก่ โดยทางรองเท้า เสื้อผ้า ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรให้บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าออกโรงเรือน โดยไม่ได้รับอนุญาต ควรเปลี่ยนรองเท้า และจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกครั้งที่เข้า ออกฟาร์ม ควรมีทางเข้า-ออก ทางเดียว และ ทำสมุดจดบันทึกวัน เวลา ที่มีบุคคลเข้าออกจากโรงเรือนทุกครั้ง
ยานพาหนะ สามารถนำเชื้อโรคเข้ามายังฟาร์มได้เช่นกัน ดังนั้น จึงควรจอดรถ หรือยานพาหนะห่างจากโรงเรือนเลี้ยง เพื่อเป็นการป้องกันเป็นการป้องกันชื้อโรคเข้าในโรงเรือนเลี้ยงไก่ และเสียงดังของเครื่องยนต์อาจทำให้ไก่ตกใจ ส่งผลให้ไก่ไม่ไข่ หรือปริมาณไข่ลดลงได้
นอกจากนี้ สัตว์ปีกที่นำมาเลี้ยงใหม่อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนมาได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันเชื้อโรคที่อาจติดมาจากแหล่งอื่น จึงควรแยกสัตว์ปีกที่ต้องการนำเข้ามาเลี้ยงใหม่ไว้อีกที่หนึ่ง เพื่อสังเกตอาการว่า แสดงการเจ็บป่วยหรือไม่ อย่างน้อย 21วัน หากสัตว์ไม่แสดงอาการเจ็บป่วย จึงนำเข้าพื้นที่เลี้ยงต่อไป
-----------------------------
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์