กรมปศุสัตว์แนะแก้ปัญหาการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ด้วยการทำฟางหมักในหน้าแล้ง ลดปัญหาการขาดสารอาหารในโคกระบือ

เนื่องจากปัจจุบันแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์มีน้อยลง เมื่อประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรมักขาดแคลนพืชอาหารสัตว์เพื่อใช้เลี้ยงโคกระบือ โดยธรรมชาติอาหารที่สำคัญของโคกระบือคือหญ้า และต้องเป็นหญ้าที่มีคุณค่าทางโภชนะสูงพอสมควร เมื่อสัตว์กินเข้าไปแล้ว จะได้รับคุณค่าทางอาหารเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งจะสามารถมีชีวิต และเจริญเติบโตได้เป็นปกติ  ในบางพื้นที่หรือช่วงฤดูแล้ง มักจะเกิดปัญหาการขาดแคลนหญ้าสด หรือหญ้าแห้งคุณภาพดี จึงจำเป็นต้องนำพวกเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น ฟางข้าว  แต่วิธีการนำมาใช้ ต้องปรับปรุงคุณภาพก่อนนำไปใช้เนื่องจากฟางข้าว จะมีคุณค่าทางอาหารต่ำ  ถ้าเกษตรกรให้โค กระบือกินแต่ฟางข้าวอย่างเดียว ก็จะทำให้ได้รับคุณค่าทางอาหารไม่เพียงพอ แม้แต่การดำรงชีพ ทำให้โคกระบือขาดสารอาหาร ร่างกายซูบผอม มีน้ำหนักลด และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ โดยเฉพาะความผิดปกติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ ทำให้ตั้งท้องได้ยาก ทั้งนี้ เนื่องจากขาดความสมดุล ของสารอาหารที่โคกระบือกินเข้าไปนั้น  เพื่อแก้ไขปัญหานี้ กรมปศุสัตว์ ขอเสนอให้เกษตรกรทำฟางหมักยูเรียเพื่อเป็นอาหารในหน้าแล้ง จะช่วยเสริมคุณค่าทางอาหาร  ทำให้โปรตีนรวมของฟางข้าวเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

การทำฟางหมักยูเรีย วิธีการคือ ใช้ยูเรียละลายน้ำแล้วราดลงบนฟางให้ทั่ว (อัตราส่วนของฟาง 100 กก./น้ำ 100 ลิตร/ปุ๋ยยูเรีย 6 กก./กากน้ำตาล 1 กก.) หลังจากนั้นจึงใช้แผ่นพลาสติกคลุมให้มิด ปล่อยให้เกิดการหมักระยะหนึ่ง (ประมาณ 3 สัปดาห์) จึงนำมาใช้ได้ ยูเรียจะช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในกระเพาะรูเมน เป็นการช่วยการย่อยได้เพิ่ม 10-15% สัตว์สามารถกินฟางได้เพิ่มขึ้น 30-40% ทำให้โปรตีนของฟางข้าวเพิ่มขึ้นจาก 2-4% เป็น 7-9% ทำให้การเจริญเติบโตของโคได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้วควรมีน้ำสะอาดให้โคกินตลอดเวลา เพราะถ้าขาดน้ำ โคจะกินฟางได้น้อยลง

อุปกรณ์ในการทำฟางหมักยูเรีย

  1. 1)ฟางข้าวที่ไม่ขึ้นรา
  2. 2)ปุ๋ยยูเรีย
  3. 3)กากน้ำตาล
  4. 4)พลาสติก
  5. 5)น้ำ
  6. 6)บัวรดน้ำ
  7. 7)เครื่องชั่งน้ำหนัก
  8. 8)ไม้กั้นทำกรอบสี่เหลี่ยมขนาด 3*4 ตารางเมตร

วิธีทำ อัตราส่วนของฟาง 100 กก./น้ำ 100 ลิตร/ปุ๋ยยูเรีย 6 กก./กากน้ำตาล 1 กก.

1.นำไม้ทำกรอบขนาด 3*4 ตารางเมตร นำพลาสติกดำมาปูบนพื้นซีเมนต์หรือดิน โดยปูให้ริมซ้อนเหลื่อมๆกันไปจนเต็มเนื้อที่ เพื่อเป็นคันกั้นน้ำที่ผสมยูเรียไม่ให้ไหลออกไปจากกองฟาง

2.นำฟาง 100 กิโลกรัม วางเรียงบนพลาสติก เกลี่ยฟางจนเต็มพลาสติกที่ปูไว้ เหลือริมผ้าไว้โดยรอบเล็กน้อย

3.ใช้น้ำจำนวน 60 ลิตร ใส่บัวรดน้ำแล้วรดฟางให้ทั่ว

4.ชั่งยูเรียจำนวน 6 กิโลกรัม กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม มาละลายน้ำ 100 ลิตร ใส่บัวรดน้ำแล้วรดฟางให้ทั่ว

5.ยกพลาสติกรอบๆ กองฟาง ดึงเข้าตรงกลาง แล้วใช้พลาสติกคลุมกองฟางโดยให้ริมพลาสติกซ้อนกันทุกผืน แล้วสอดปลายพลาสติกทั้งสองเข้าไต้กองฟาง คลุมเช่นนี้ 2 ชั้น

6.หมักฟางทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ จึงเริ่มตักออกมาเลี้ยงสัตว์ได้

...........................................................................

ข้อมูล : สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี / สำนักพัฒนาอาหารสัตว์

เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์