1. เนื้อสัตว์เป็นแหล่งอาหารที่ให้โปรตีนสูง เป็นโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนะสูง และถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายได้เกือบหมด เนื้อสัตว์มีโปรตีนอยู่สูงถึง 20% และมีกรดอะมิโน lysine และ taurine ในปริมาณสูง เมื่อเทียบกับปริมาณโปรตีนที่ได้จากอาหารอื่น
2. เนื้อสัตว์ประกอบด้วยวิตามินหลายอย่าง ได้แก่ B1, B6, B12, A, D, E, K และ C โดยเฉพาะวิตามิน C มีอยู่มากในผลิตภัณฑ์เนื้อ เช่น ไส้กรอก แฮม เป็นต้น นอกจากนี้ในผลิตภัณฑ์เนื้อกลุ่มหมักเปรี้ยว เช่น แหนม ซาลามี่ ยังมีแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น แลคโตบาซิลัส
3. เนื้อสัตว์ประกอบด้วยแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย และมักจะพบอยู่น้อยมากในแหล่งอาหารอื่น ๆ แต่จะมีมากในเนื้อสัตว์ คือ ธาตุเหล็ก สังกะสี ซีลิเนียม
4. เนื้อสัตว์ที่จะนำมาปรุงอาหาร หากต้องการความนุ่มควรเป็นเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการบ่มเนื้อ (ageing) เป็น ระยะเวลาหนึ่งก่อน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีภายในเนื้อ ได้แก่ การให้เอ็นไซม์ในเนื้อมีโอกาสมาย่อยโปรตีนบางส่วน ทำให้เนื้อสัตว์พ้นสภาวะการหดตัวอย่างถาวรของเส้นใยกล้ามเนื้อ โดยในสุกรควรบ่มนื้อประมาณ 2 วัน ในโคประมาณ 7-14 วัน เพื่อให้ได้เนื้อที่นุ่มน่ารับประทานมากขึ้น
5. การปรุงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ควรมีไขมันเนื้อสัตว์ติดปนอยู่กับชิ้นเนื้อบ้าง เพราะจะทำให้เนื้อนั้นไม่กระด้างเมื่อถูกความร้อนขณะปรุงอาหาร โดยไขมันจะช่วยป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อเกิดการสูญเสียน้ำไปได้โดยง่าย นอกจากนี้ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันติดมาบ้างจะมีกลิ่นและรสชาติที่ดีกว่าเนื้อสัตว์ที่ไม่ ติดไขมันเลย
6. เนื้อสัตว์จะมีสารพิษตกค้างอยู่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารประเภทอื่น ๆ ที่มีโอกาสของการตกค้างของสารพิษสูงกว่า เช่น ผัก ผลไม้ และอาหารทะเล
7. เนื้อสัตว์ที่เลาะเอาไขมันและผังผืดออกแล้ว จะมีไขมันเป็นองค์ประกอบในปริมาณต่ำ คือ มีไขมันเป็นองค์ประกอบเพียง 1 – 2 % เท่านั้น ดังนั้นเนื้อสัตว์ที่แต่งเอาไขมันออกบ้างแล้วจึงเป็นอาหารที่มีองค์ประกอบทางโภชนะสูงและให้พลังงานต่ำ
-----------------------------
ข้อมูล : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์