สัตว์ปีก ไม่ว่าจะเป็นเป็ดหรือไก่ เป็นอาหารโปรตีนที่ราคาไม่แพงมากเหมือนกับเนื้อหมู หรือ เนื้อวัว ซึ่งนอกจากจะราคาไม่แพงแล้ว ยังสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย ทั้งต้ม ผัด แกง ทอด ปิ้ง ย่าง และผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอาหารโดยทั่วไป ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าสัตว์ปีกได้โดยดูตรารับรองมาตรฐาน ความสด สะอาด ปลอดภัย ได้จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้
แต่ในส่วนของผู้ชำแหละสัตว์ปีก ไม่ว่าจะชำแหละเพื่อการค้า หรือ เพื่อการบริโภคในครัวเรือน ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงอาจติดโรคจากสัตว์ปีกได้ เนื่องจากผู้ชำแหละต้องสัมผัสกับ เลือด และสารคัดหลั่งต่างๆ จากสัตว์ปีก ดังนั้น ผู้ชำแหละต้องใส่ถุงมือ และไม่มีบาดแผลบริเวณนิ้ว เล็บ มือ หรือแขน อย่างเด็ดขาด และควรปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1. เลือกซื้อเฉพาะสัตว์ปีกมีชีวิตที่มีอาการปกติ เช่น ขนเรียบ ไม่หงอยซึม หน้า เหนียง หงอน ไม่บวม ไม่มีน้ำมูก ตาบวม ขี้ไหล เป็นต้น
2. ไม่ขังสัตว์ปีกจำพวกไก่ เป็ด ห่าน ฯลฯ ไว้ด้วยกันในระหว่างรอฆ่าและชำแหละ เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เชื้อโรคติดต่อไปยังสัตว์ชนิดอื่นๆ
3. หมั่นดูแลระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น ถุงมือ พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก แว่นตา รองเท้าบู๊ท และต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจับต้องสัตว์ป่วยหรือซากสัตว์ที่ตาย
4. เมื่อชำแหละเสร็จแล้วก็ขอต้องรีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ เสื้อผ้าชุดเดิมควรนำไปแยกซักและผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้อีกครั้ง
5. รักษาร่างกายให้แข็งแรงเพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคได้ดี โดยการรับประทานอาหารให้ครบถ้วน รวมทั้งผักและผลไม้ งดบุหรี่และสุรา นอนหลักพักผ่อนให้เพียงพอควรสวมเสื้อผ้าให้อบอุ่นพอในช่วงอากาศเย็น
6. หากมีอาการไม่สบายเช่น มีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น เจ็บคอ ไอ เป็นต้น ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งแพทย์ด้วยว่ามีอาชีพชำแหละไก่
7. ติดตามข่าวสารทางราชการ และสื่อมวลชนต่างๆ อยู่เป็นประจำ
-----------------------------
ข้อมูล : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ และสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์