รัฐบาล โดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมเกษตรกรในอำเภออรัญประเทศ อำเภอโคกสูง และ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว สร้างเมืองโคเนื้อ ภายใต้โครงการโคบาลบูรพา เน้นการรวมกลุ่ม “เกษตรแปลงใหญ่”    ทำการปศุสัตว์ร่วมกัน และปรับเปลี่ยนพื้นที่แล้งซ้ำซากเป็นทุ่งหญ้าอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ทั้งการหาซื้อเมล็ดพันธุ์และการเช่าเครื่องจักรกล อีกทั้งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในกลุ่มเกษตรกร

          ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 เวลา 20.15 น. ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึง โครงการบูรพา ดังนี้ “โครงการโคบาลบูรพา ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นการเลี้ยงปศุสัตว์ ด้วยที่ตั้งจังหวัดสระแก้วอยู่ใกล้ชายแดนเชื่อมต่อแหลมฉบัง เชื่อมต่อกับกรุงเทพคล้าย ๆ กับฟาร์มโชคชัย ปากช่อง โคราช นอกจากนี้ ตลาดปศุสัตว์บ้านเรา ยังขาดแคลนอีกมาก เพราะเมื่อ 10 ปีก่อน เรามีโคเหลืออยู่ 8 ล้านตัว ปัจจุบันลดลง เหลือเพียง 4 ล้านตัว และหากไม่ได้เลี้ยงเพิ่มก็จะเป็นปัญหา แต่ก็อาศัยซื้อมาเพิ่ม ตลาดโคเนื้อจึงขาดแคลน เพราะฉะนั้นแนวคิด “โคบาลบูรพา” นี้ ก็จะมี 3 กิจกรรมสำคัญ คือ

          (1) ธนาคารโคเนื้อ ที่ไม่ใช่ให้กู้ยืมเงินแต่เป็นการให้ยืมโคเนื้อ “ตัวผู้ - ตัวเมีย” เลี้ยงเป็นคู่ ประมาณครึ่งปีออกลูกมา ก็ทยอยใช้หนี้เป็นลูกวัว สำหรับเกษตรกรรายอื่น เอาไปเลี้ยงบ้าง

           (2) การลดพื้นที่การทำนาข้าวแล้วหันมาปลูกพืชอาหารโคเนื้อแทน เช่น หญ้า - ข้าวโพด - มันสำปะหลัง โดยทยอยลดพื้นที่สมมุติว่าเดิมท่านทำนาไม่ได้ผล 15 ไร่ ก็มาทำฟาร์มโคเนื้อ โดยลดการทำนาลง ปีละ 5 ไร่ มาปลูกข้าวโพดเพียง 3 ปี จะลดพื้นที่การทำนาที่ไม่คุ้มค่าได้ 100% และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม ซึ่งให้ผลกำไรที่ดีกว่า เช่น ด้วยการเลี้ยงโคเนื้อและทุ่งหญ้า - ไร่ข้าวโพด เป็นต้น

          (3) การรวมกลุ่ม “เกษตรแปลงใหญ่” ทำปศุสัตว์ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ทั้งการหาซื้อเมล็ดพันธุ์และการเช่าเครื่องจักรกล อีกทั้งช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งภายในกลุ่ม มีอำนาจต่อรอง มีพลังในการริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ

          ปัจจุบัน มีเกษตรกรผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว 6,100 ราย ปรับเปลี่ยนการเกษตรแล้ว 30,000 ไร่ จาก 100,000 ไร่ เพื่อจะปลูกพืชอาหารสัตว์และในเดือนตุลาคมนี้ จะมีการมอบโคเนื้อและแพะ ให้เกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมในโครงการด้วย ในอนาคตจังหวัดสระแก้ว ก็จะกลายเป็น“เมืองโคเนื้อ” หรือ “โคบาลบูรพา” ส่วนพื้นที่แล้งซ้ำซาก 1 แสนไร่ ก็จะกลายเป็นทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ หาม้ามาให้เช่าขี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ได้และรัฐบาลไม่ต้องหว่านเงินแก้ปัญหาภัยแล้งให้ชาวนาจังหวัดสระแก้วอีกต่อไป ”

          ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้มีการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรในพื้นที่ก่อนรับพันธุ์สัตว์ โดยจัดฝึกอบรมผู้เข้าร่วมโครงการฯ ให้มีความรู้พื้นฐานด้านการเลี้ยงสัตว์ การจัดทำคอก โรงเรือน การป้องกันโรคระบาด และการจัดสร้างแปลงพืชอาหารสัตว์ เป็นต้น

          โครงการ “โคบาลบูรพา” จัดทำเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมไปเลี้ยงปศุสัตว์  โดยส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์ให้เกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ยึดคืนตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเลี้ยงสัตว์ โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งปศุสัตว์ “โคบาลบูรพา” ที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งและลักษณะพื้นที่เหมาะสม เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศกัมพูชาและเวียดนาม มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้ออย่างครบวงจร ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออก ลดการนำเข้าเนื้อสัตว์และการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย และสร้างโอกาสในการผลิตเนื้อโคส่งออกตลาด AEC ในอนาคตต่อไป ในการดำเนินโครงการดังกล่าว มีระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ.2560 – 2565)

------------------------------------------

ที่มาของข้อมูล : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช  สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ กรมปศุสัตว์