กรมปศุสัตว์ขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า การให้นมของแม่โคเป็นกลไกธรรมชาติเหมือนกับมนุษย์ที่คลอดลูกแล้วจะมีน้ำนมไว้สำหรับเลี้ยงลูก แต่โคนมเป็นสัตว์ที่มีผลผลิตน้ำนมมาก เกษตรกรจึงแบ่งน้ำนมส่วนหนึ่งไว้เลี้ยงลูกโคและน้ำนมส่วนที่เหลือมาเป็นอาหารมนุษย์ วงจรการเลี้ยงโคนมมีดังนี้ หลังจากแม่โคคลอดลูก ในช่วง 5 วันแรกจะผลิตนมน้ำเหลืองซึ่งเป็นนมที่มีภูมิต้านทานในธรรมชาติ หลังจากนั้นน้ำนมจะมีสีขาวซึ่งเป็นนมปกติทั่วไปสามารถนำมาเป็นอาหารมนุษย์ได้ และหลังจากคลอดลูก 90 วัน ระบบสืบพันธุ์ของแม่โคและสุขภาพร่างกายแม่โคจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ สามารถทำการผสมพันธุ์และเมื่อผสมติดจะตั้งท้องควบคู่กับการให้นมไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้แม่โคตั้งท้องนาน 9 เดือน หรือ 270 วัน เกษตรกรจะรีดนมแม่โคนาน 300 วัน และจะหยุดรีดนม 60 วันก่อนคลอดลูกตัวต่อไป เพื่อให้แม่โคได้มีการสะสมอาหารไว้ในร่างกายเพื่อผลิตนมหลังคลอดครั้งต่อไป เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าแม่โคจะมีอายุมากไม่สามารถผสมติดและให้ลูกได้ จึงทำการปลดแม่โคออกจากฝูง สำหรับลูกโคเพศเมียที่เกิดมาจะได้รับการป้อนนมน้ำเหลืองที่รีดมาจากแม่โคอย่างเต็มที่นาน 5 วัน เพื่อให้เกิดภูมิต้านทาน หลังจากนั้นจะได้รับน้ำนมจากแม่โค หรือ นมผงละลายน้ำ วันละ 4 กก. เมื่อลูกโคมีอายุ 7 วัน เกษตรกรจะเสริมอาหารผสมสำหรับลูกโคให้หัดกินทีละน้อยและจนกินมากขึ้นถึงวันละ 2 กก. และเมื่อลูกโคมีอายุ 2 สัปดาห์จะทำการเสริมหญ้าแห้งให้ลูกโคหัดกินและเพิ่มปริมาณการกินมากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่ออายุ 3 เดือน ลูกโคสามารถกินอาหารผสมและหญ้าแห้งได้มากเพียงพอต่อการเจริญเติบโต เกษตรกรจะทำการหย่านม หลังจากนั้นลูกโคจะได้รับอาหารประเภทเยื่อใย หรือ อาหารหยาบ เช่น หญ้าเนเปียร์ หญ้ารูซี่ หญ้าแพงโกล่า ฟางข้าว และข้าวโพดต้น อย่างเต็มที่ ควบคู่กับการเสริมอาหารข้นที่มีโปรตีนและพลังงานงานสูง ในสัดส่วนและปริมาณที่ทำให้โคได้รับสารอาหารเพียงพอกับความต้องการในแต่ละช่วงอายุ และเมื่อลูกโคเจริญเติบโตเป็นโครุ่น และโคสาวที่อายุ 18 เดือน หรือมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 280 กก. จะเริ่มทำการผสมพันธุ์แม่โคโดยการผสมเทียม หากผสมติดโคสาวจะตั้งท้องนาน 9 เดือนแล้วคลอดลูกและเป็นไปตามวงจรการผลิตตามที่ได้กล่าวมา
การเลี้ยงโคนมในประเทศไทยยึดหลักการคัดเลือกพันธุกรรมโคนมที่มีลักษณะการให้น้ำนมสูง ที่เห็นทั่วไปในบ้านเราจะเป็นโคนมพันธุ์สีขาวดำ หรือพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน ซึ่งเป็นโคพันธุ์ที่ให้น้ำนมมาก การเลี้ยงดูในอดีตที่ผ่านมาเรามีพื้นที่ว่างเปล่ามากมายจึงมีการเลี้ยงปล่อยแทะเล็มตามทุ่งหญ้า แต่ในปัจจุบันจำนวนประชาการเพิ่มขึ้นมากพื้นที่ทุ่งหญ้าเหลือน้อย เราจึงทำการปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น หญ้าเนเปียร์ หญ้ารูซี่ หญ้าแพงโกล่า และข้าวโพดต้น ในพื้นที่เหมาะสมแล้วตัดมาเลี้ยงโคนมตามฟาร์มต่าง ๆ ของเกษตรกร เสริมด้วยอาหารที่เรียกว่าอาหารข้น ที่ประกอบไปด้วยธัญพืชต่าง ๆ เช่น เมล็ดข้าวโพด รำข้าว กากถั่วเหลืองสกัดน้ำมัน และมันสำปะหลัง โดยมีการคำนวณสัดส่วนอาหารให้มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอต่อความต้องการของแม่โคนม แม่โคนมที่ให้ผลผลิตน้ำนมมากก็จะได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า แม่โคที่ให้ผลผลิตน้ำนมน้อย ตลอดการให้นมแต่ละรอบการให้นม หรือ 300 วัน ผลผลิตน้ำนมของแม่โคในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 12 – 14 ลิตร
กระบวนการตรวจสอบคุณภาพน้ำนมโคในประเทศไทยจะมีตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงโรงงานแปรรูป ในระดับฟาร์มเกษตรกรจะมีการตรวจสอบความผิดปกติของเต้านมและน้ำนมก่อนรีดทุกครั้ง และเมื่อนำน้ำนมดิบส่งศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบจะต้องผ่านการตรวจด้วยเครื่องมือประจำศูนย์ฯ และมีการเก็บตัวอย่างน้ำนมส่งไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการของทางราชการ และสุดท้ายเมื่อน้ำนมดิบถึงโรงงานแปรรูปก็จะมีการตรวจคุณภาพน้ำนมดิบโดยละเอียดจากโรงงานแปรรูป รวมถึงมีการควบคุมคุณภาพการผลิตในตลอดกระบวนการผลิตจนออกมาเป็นนมพาสเจอไรส์ หรือ นมยูเอชที
สำหรับประเด็นการแพ้นมโคเกิดขึ้นได้ในบางคนแต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะแพ้นมโค และส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้น้ำตาลแลคโตสซึ่งในผู้ที่แพ้จะไม่มีเอ็นไซม์ในการย่อยน้ำตาลชนิดนี้จึงไม่สามารถย่อยและดูดซึมน้ำนมได้ ซึ่งในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการหลายรายผลิตน้ำนมที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตสสำหรับผู้บริโภคกลุ่มนี้ และสำหรับผู้ที่แพ้นมโคจากสาเหตุอื่นก็จะหันไปบริโภคน้ำนมจากสัตว์ชนิดอื่น เช่น น้ำนมแพะ น้ำนมแกะ หรือน้ำนมกระบือแทน
ด้วยความปรารถนาดีจาก กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
*************************
ข้อมูล : กองผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ เรียบเรียง : น.ส.เพ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ