ควาย เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่มีความผูกพันกับมนุษย์มาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ จากหลักฐานภาพเขียนก่อนยุคประวัติศาสตร์ของมนุษย์โบราณ ปรากฏภาพควาย ภาพปลา ภาพสัตว์ป่าบางชนิด เขียนอยู่ตามถ้ำต่างๆ แสดงให้เห็นว่าควาย เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์มาแต่สมัยโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยเชื่อว่าควายมีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทย ใช้เป็นแรงงานเพื่อการเกษตร การขนส่งและการคมนาคม แม้แต่ในการสงครามยังใช้ควายเป็นพาหนะในการต่อสู้ข้าศึก เช่น สงครามของพี่น้องชาวบ้านบางระจัน ในอดีตประเทศไทยเคยมีควายกว่า 6 ล้านตัว แต่ที่น่าตกใจคือปัจจุบันควายเหลือน้อยลงทุกที โดยคาดว่ามีไม่ถึง 1 ล้านตัว หากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ควายคงหมดจากประเทศไทย เด็กรุ่นหลังคงรู้จักควายจากอนุสาวรีย์หรือรูปภาพเท่านั้น
“ควาย” มี 2 ชนิด คือ ควายป่า และควายบ้าน ซึ่งสามารถแบ่งควายบ้านออกไปได้อีก 2 ประเภท คือ ควายปลัก (Swamp Buffalo) พบในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาว เลี้ยงเพื่อใช้แรงงานในไร่นา เพื่อปลูกข้าวและทำไร่ และเมื่อควายอายุมากขึ้นก็จะส่งเข้าโรงฆ่าเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร ลักษณะของควายปลัก มีรูปร่างล่ำสัน ผิวหนังมีสีเทาเข้มเกือบดำ บางตัวอาจมีสีขาวเผือก มีขนเล็กน้อย ลำตัวหนา ท้องใหญ่ หัวยาวแคบ เขาโค้งไปข้างหลัง หน้าสั้น หน้าผากแบนราบ ตานูนเด่นชัด ช่วงระหว่างรูจมูกทั้งสองข้างกว้าง ขาทั้ง 4 อาจจะมีสีขาวแก่หรือสีเทาคล้ายใส่ถุงเท้า คอยาวและบริเวณใต้คอจะมีขนขาวเป็นรูปตัววี หัวไหล่และอกนูนเห็นชัดเจน จะชอบนอนแช่โคลน ควายน้ำหรือควายแม่น้ำ (River Buffalo) พบในประเทศ อินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ ประเทศในยุโรปตอนใต้ และยุโรปตะวันออก มีหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์มูร่าห์ นิลิ ราวี เมซานี เซอติ และเมดิเตอร์เรเนียน เป็นต้น ให้นมมากและเลี้ยงไว้เพื่อรีดนม ไม่ชอบลงแช่โคลน แต่จะชอบน้ำสะอาด รูปร่างจะมีขนาดใหญ่ แข็งแรง ลักษณะทั่วไปจะมีผิวหนังสีดำ หัวสั้น หน้าผากนูน เขาสั้น และบิดม้วนงอ ส่วนลำตัวจะลึกมาก มีขนาดเต้านมใหญ่ ควายแม่น้ำเพิ่งเข้ามาสู่ประเทศไทยประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นิยมเลี้ยงอยู่ในส่วนราชการ ลักษณะทั่วไปของควายแม่น้ำ จะโตเต็มวัยเมื่ออายุระหว่าง 5-8 ปี น้ำหนักตัวผู้โตเต็มวัยโดยเฉลี่ย 520-560 กิโลกรัม ตัวเมียเฉลี่ยประมาณ 360-440 กิโลกรัม ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย รูปร่างหน้าตาควายส่วนใหญ่รูปร่างอ้วน เตี้ย พ่วงพี ลำตัวสั้น ท้องกางกลม แข้งขาสั้น เขากางยาว ปลายเขาโค้งเป็นวงคล้ายพระจันทร์เสี้ยวสี ควายมีอยู่ 2 สี คือควายที่มีขนสีดำกับควายที่มีขนสีขาว แต่โดยทั่วไปควายจะมีขนสีดำ ส่วนควายที่มีขนสีขาวหรือเรียกว่าควายเผือก ชาวนาไม่นิยมซื้อขาย และไม่นิยมฆ่าแกง แต่จะมีประโยชน์ด้านจิตใจมากกว่าควายสีดำ
เขาควายโดยทั่วไปหรือส่วนใหญ่มีเขายาวกางออกสองข้างศีรษะ ปลายเขาโค้งเข้าหากัน ลักษณะเขาควายส่วนล่างเป็นสี่เหลี่ยมรูปมนผิวขรุขระเป็นปล้อง ส่วนบนกลมเรียวปลายแหลมผิวลื่น ควายบางตัวมีเขาผิดปกติ คือเขาสั้นทู่หรือเขาหลูบห้อยลงสองข้างศีรษะ ขนาดเขาควายโดยปกติยาวประมาณ 60-120 เซนติเมตร ควายจะมีฟันล่าง 20 ซี่ ส่วนฟันบนมีเฉพาะกราม 12 ซี่ ไม่มีฟันหน้า การเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ ลูกควายจะกินนมแม่จนอายุประมาณ 1.5 ปี และสามารถใช้แรงงานได้อายุระหว่าง 2.5-3 ปี ช่วงที่ใช้งานได้เต็มที่ อายุระหว่าง 5-8 ปี ควายแต่ละตัวจะใช้งานได้จนอายุย่างเข้า 20 ปี อายุโดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 25 ปี (เว้นกรณีพิเศษที่ควายบางตัวอาจมีอายุยืนผิดปกติ) ควายตัวผู้สามารถเป็นพ่อพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 2 ปี ส่วนควายตัวเมียสามารถเป็นแม่พันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป ควายจะตั้งท้องช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นฤดูที่อาหารอุดมสมบูรณ์ควายจะอุ้มท้องประมาณ 10.5 เดือน ก่อนและหลังคลอด 2-3 อาทิตย์ เจ้าของไม่นิยมใช้งานหนัก ปกติควายจะคลอดลูก 2 ตัว ในเวลา 3 ปี การเลี้ยงควายโดยมากเลี้ยงเป็นฝูงรวมกัน โดยใช้ตัวผู้ 1 ตัว คุมฝูงตัวเมียได้ประมาณ 25-30 ตัว หากควายที่เลี้ยงไว้มีจำนวนมาก ก็จะแบ่งออกเป็นฝูงโดยใช้รั้วกั้น วิธีแบ่งฝูง จะแบ่งตามฝูงพ่อควาย เป็นคอกๆ เพื่อป้องกันการต่อสู้กัน ฝูงควายตัวผู้ที่ยังผสมไม่ได้ และฝูงควายตัวเมียที่ยังผสมไม่ได้ ส่วนประโยชน์ของควายนั้นมีมากมาย ด้วยลักษณะรูปร่างเหมาะกับการใช้แรงงานในพื้นที่เป็นโคลนตมได้ดี เพราะขาทั้งสี่ข้างรับน้ำหนักได้ดี มีกีบเท้าใหญ่และแข็งแรงเดินได้ดีในโคลน มีข้อกีบและข้อขาที่เคลื่อนไหวคล่องตัว ทำให้เดินได้ดีในที่นาขรุขระ ควายเป็นแรงงานหลักที่สำคัญของชาวนา เช่น ใช้ในการเตรียมดินไถนาและคราด การนวดข้าว ลากเกวียน ไถนา หรือไถวัชพืชระหว่างร่องมันสำปะหลังหรือร่องอ้อยในบางพื้นที่ นอกจากนี้มูลควายยังมีความสำคัญมากในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากที่นาได้ใช้เป็นปุ๋ยเคมีติดต่อกันหลายปี ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพแข็งเป็นดินดาน แต่ถ้าใส่ปุ๋ยคอกจากมูลควายเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน จะทำให้โครงสร้างของดินร่วนซุย เพิ่มธาตุอาหารให้กับพืช และให้ธาตุอาหารพืชในลักษณะต่อเนื่อง และยังทำให้การเกิดฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตในดิน เช่น จุลินทรีย์ ไส้เดือน แมลงต่างๆ จากผลการวิเคราะห์ธาตุอาหารในมูลควาย พบว่า ในมูลมีธาตุไนโตรเจน 1.39% ฟอสฟอรัส 0.97%
และโปตัสเซียม 0.43% ของน้ำหนักแห้ง สำหรับปริมาณมูลที่ผลิตได้ต่อตัว ควายโตเต็มที่จะถ่ายมูลคิดเป็นน้ำหนักแห้งปีละ 2-3 ตัน อีกทั้ง เนื้อควายถือว่าเป็นเนื้อที่มีคุณภาพต่อผู้บริโภค ด้วยเหตุผลด้านรสชาติที่ดี เป็นเนื้อที่มีปริมาณไขมัน และไตรกลีเซอไรด์น้อยเมื่อเทียบกับเนื้อไก่ เนื้อวัว และเนื้อปลา แต่เส้นใยมีลักษณะหยาบกว่าเนื้อวัว
ปัจจุบันคุณค่าของควายเริ่มลดน้อยลงไป โดยเฉพาะทางด้านเกษตรกรรม เพราะมีเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาใช้แทนที่แรงงานของควาย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มที่อนุรักษ์และยังคงความนิยม“ควาย” มากกว่าเครื่องจักร เห็นคุณค่าและประโยชน์มากมายของควายแล้วนั้น หากเกษตรกรท่านใดสนใจ
การเลี้ยงควาย เพื่อสนองพระราชดำริ ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรพอเพียง และเกษตรผสมผสาน ก็ยังมีโครงการ "ธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ" รองรับ โดยกรมปศุสัตว์เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการทั้งหมด ส่วนคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะรับบริการของโครงการนั้น ต้องเป็นเกษตรกรที่มีสัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน หรือเลี้ยงสัตว์ มีความประพฤติดี และยินดีให้ความร่วมมือกับทางราชการ ยังไม่เคยได้รับโคหรือกระบือจากโครงการอื่นๆ มาก่อน มีความเหมาะสมและสามารถที่จะดูแลเลี้ยงดูโค-กระบือได้ มีรายได้ไม่เกินเกณฑ์ จปฐ.1 (ฉบับที่เป็นปัจจุบัน) หรือได้รับการรับรองจากคณะกรรมการหมู่บ้านหรือคณะกรรมการชุมชนนั้นๆ ว่าสมควรได้รับความช่วยเหลือ เกษตรกรที่ได้รับคัดเลือกจะต้องทำสัญญากับกรมปศุสัตว์ และจะต้องมีผู้ค้ำประกัน และสัญญาจะตกทอดแก่ทายาทที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ทำสัญญาถึงแก่กรรม ในส่วนของการให้บริการ มีบริการให้ยืมเพื่อการผลิต บริการให้เช่าซื้อ บริการให้ยืมพ่อพันธุ์ บริการให้เช่าเพื่อใช้แรงงาน เป็นต้น
ข้อมูล : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ /สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์/กองงานพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ
เรียบเรียงโดย : สลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ