แพะ ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่อาศัยในพื้นที่เป็นคนไทยอิสลาม จึงทำให้แพะเป็นที่ต้องการเพราะใช้ประกอบพิธีทางศาสนาและเพื่อการบริโภคในครัวเรือน เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูง สามารถหากินใบไม้ใบหญ้าได้เอง ถึงแม้จะตัวเล็กแต่ทนทานต่อทุกสภาพอากาศ แข็งแรงไม่ติดโรคง่ายเหมือนหมูหรือไก่ อีกทั้งยังให้ผลผลิตเนื้อและนม เนื้อแพะเป็นอาหารที่มีโปรตีนที่ย่อยได้ในระดับสูงกว่าเนื้อวัว หมู และไก่ มีไขมันในระดับต่ำกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ นมแพะมีคุณค่าทางอาหารสูง ใกล้เคียงหรือสูงกว่านมโค กระบือ และมนุษย์ โมเลกุลไขมันมีขนาดเล็ก ทำให้ง่ายต่อการย่อยและการดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร สามารถนำมาใช้บริโภคแทนนมมนุษย์ได้ดีกว่านมโคและนมกระบือ นอกจากนี้ขนและหนังแพะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน อาทิ ใช้ทำกระเป๋า เสื่อ พรม และเชือก ส่วนมูลแพะใช้ทำปุ๋ย เขาและกีบนำมาทำเป็นเครื่องประดับ เลือดและกระดูกนำมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย

          กรมปศุสัตว์เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงแพะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ หันมาทำอาชีพการเลี้ยงแพะให้เกิดรายได้ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลโดยได้มอบหมายให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ทำการคัดเลือกเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 1,000 ราย ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกรจังหวัดยะลา 250 ราย กลุ่มเกษตรกรจังหวัดปัตตานี 500 ราย และกลุ่มเกษตรกรจังหวัดนราธิวาส 250 ราย ตาม “โครงการธนาคารแพะตำบลสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้” โดยกรมปศุสัตว์ได้จัดหาและส่งมอบแพะพันธุ์แท้ให้กับเกษตรกรเพื่อเลี้ยงขยายพันธุ์ โดยมีเงื่อนไขให้เกษตรกรรุ่นแรกที่ได้รับแพะพันธุ์แท้ไปนั้น ให้ส่งคืนผลผลิตลูกแพะตัวแรกให้กับกลุ่มทุกราย เพื่อนำไปขยายผลให้กับสมาชิกเกษตรกรรายอื่นในรุ่นต่อไปโดยเกษตรกร 1 รายจะได้รับแพะจำนวน 5 ตัว เป็นแพะเพศผู้ 1 ตัว และเพศเมีย 4 ตัว แพะพันธุ์แท้ที่กรมปศุสัตว์ได้จัดสรรให้เกษตรกรมี 3 พันธุ์ ได้แก่ แพะพันธุ์ “ดำ บางนรา” เป็นแพะพื้นเมืองภาคใต้ ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์นราธิวาส ได้พัฒนาคัดเลือกลักษณะเด่นที่มีสีดำ คิ้ว ใต้ท้องและช่วงแข้งมีสีขาวหรือน้ำตาลอ่อน สร้างอัตลักษณ์ของแพะพื้นเมืองในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีอัตราการเจริญเติบโตก่อนหย่านมไม่น้อยกว่า 80 กรัม/วัน น้ำหนักโตเต็มที่ของเพศผู้ 30 – 40 กิโลกรัม เพศเมีย 25 – 30 กิโลกรัม ให้เปอร์เซ็นต์ซากไม่น้อยกว่า 48 เปอร์เซ็นต์ ข้อดีแพะดำบางนรา ทนต่อสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นได้ดี ทนทานต่อพยาธิ และมีอัตราการให้ลูกแฝดสูง แพะพันธุ์ “โหนด วังพญา” เป็นแพะพื้นเมืองภาคใต้ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาแพะแกะ ได้พัฒนาคัดเลือกลักษณะเด่นที่มีสีน้ำตาลเข้ม หลังดำคล้ายสีของลูกตาลโตนด สร้างอัตลักษณ์ของแพะพื้นเมืองในพื้นที่จังหวัดยะลา มีอัตราการเจริญเติบโตก่อนหย่านมไม่น้อยกว่า 90 กรัม/วัน น้ำหนักโตเต็มที่ เพศผู้ 30 – 40 กิโลกรัม เพศเมีย 25 – 30 กิโลกรัม ให้เปอร์เซ็นต์ซากไม่น้อยกว่า 48 เปอร์เซ็นต์ ข้อดีแพะโหนดวังพญา ทนต่อสภาพอากาศร้อนชื้นได้ดี ทนทานต่อพยาธิ และมีอัตราการให้ลูกแฝดสูงมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ แพะพันธุ์ “ขาว สมิหลา” กรมปศุสัตว์ได้พัฒนาแพะเนื้อพันธุ์ไทย ขาวสมิหลา ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เทพา สำหรับใช้เลี้ยงเชิงพาณิชย์ มีการเจริญเติบโตดี เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ภาคใต้ โดยการผสมข้ามสามสายพันธุ์ (50% บอร์ 25% แองโกลนูเบียน 25% พื้นเมือง)มีสีขาวทั้งตัว หัวสีน้ำตาลอ่อน อัตราการเจริญเติบโตก่อนหย่านมไม่น้อยกว่า 110 กรัม/วัน น้ำหนักโตเต็มที่ เพศผู้ 65 – 80 กิโลกรัม เพศเมีย 55 -70 กิโลกรัม ให้เปอร์เซ็นต์ซากไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ข้อดีแพะขาวสมิหลา ทนต่อสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ให้ผลผลิต เนื้อดีและเปอร์เซ็นต์ซากสูง ซึ่งทั้งสามสายพันธุ์นี้ล้วนเป็นสายพันธุ์ที่กรมปศุสัตว์ ได้คัดเลือกแล้วว่ามีคุณลักษณะเฉพาะและมีคุณสมบัติครบถ้วน สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่

          การเลี้ยงแพะให้ได้คุณภาพและมาตรฐานที่ดีนั้นมีหลายรูปแบบ ผู้เลี้ยงแพะจะต้องมีความรู้และมีระบบการจัดการที่ดี ตลอดจนมีโรงเรือนที่ได้มาตรฐานเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การเลี้ยงแพะโดยทั่วไปสามารถแบ่งรูปแบบการเลี้ยงได้ 4 แบบ ดังนี้ การเลี้ยงแบบปล่อย เป็นการเลี้ยงแบบให้แพะหากินเองตามธรรมชาติ และผสมพันธุ์เอง มักเลี้ยงบริเวณที่มีหญ้า กลางวันจะต้อนให้อยู่ที่มีร่มเงา มักไม่มีการสร้างคอกหรือโรงเรือน แต่จะปล่อยให้อาศัยตามร่มไม้ การเลี้ยงแบบผูกล่าม เป็นการผูกล่ามแพะไว้กับที่ อาจเป็นหลักไม้ปัก ตอไม้หรือต้นไม้ที่บริเวณโดยรอบมีหญ้าให้แพะกินเพียงพอวันหนึ่งอาจมีการย้าย 2-3 จุด เพื่อให้ได้กินหญ้าได้มากส่วนตอนเย็นจะย้ายมาขังคอก การเลี้ยงแบบกึ่งขังคอก ลักษณะคล้ายการเลี้ยงแบบปล่อย แต่จะสร้างคอกหรือโรงเรือนสำหรับกักขังตอนกลางคืน โรงเรือนจะมีแต่หลังคาเท่านั้น โดยในตอนเช้าจะต้อนแพะให้ออกหากินตามทุ่งหรือที่มีหญ้า การเลี้ยงแบบขังคอก เป็นการเลี้ยงในคอกหรือโรงเรือนตลอดเวลา โดยให้น้ำและอาหารในคอก แต่อาจมีการปล่อยแพะออกไปหากินข้างนอกเป็นบางเวลา ลักษณะพื้นคอกมักยกสูงและลาดเอียงหรืออาจเป็นพื้นดินธรรมดา แต่มักรองพื้นด้วยแกลบ

          ลักษณะของโรงเรือน โรงเรือนเลี้ยงแพะควรตั้งอยู่ในพื้นที่ดอน ไม่มีน้ำ กันแดด กันฝน มีแสงสว่าง อากาศถ่ายเท สะอาด และมีรั้วล้อมรอบ ควรยกพื้นสูงจากพื้นดิน 1.50 – 1.60 เมตร ปูพื้นด้วยไม้ระแนง ขนาด 1 x 23 นิ้ว ในส่วนของร่องไม้ควรห่างประมาณ 1 นิ้ว เพื่อให้มูลแพะลอดผ่านได้สะดวก และภายในโรงเรือนประกอบด้วย รางหญ้า รางอาหารข้น และภาชนะใส่น้ำ รวมทั้งแขวนก้อนเกลือแร่ให้แพะ แทะกินอย่างทั่วถึงและเพียงพอ ดังนี้ โรงเรือนพ่อพันธุ์แพะ ขนาด 3 x 5 เมตร สำหรับเลี้ยงแพะพ่อพันธุ์ 1 – 2 ตัว โรงเรือนแพะรวม ขนาด 6 x 12 เมตร แบ่งซอยเป็นคอกย่อย ตามกลุ่มขนาดของแพะ ประกอบด้วย แพะตั้งท้องก่อนคลอด แพะเลี้ยงลูกอ่อน คอกคลอด คอกอนุบาลลูกแพะและคอกแพะรุ่น โรงเรือนแพะรีดนม ขนาด 4 x 12 เมตร เป็นคอกแพะรวม จะมีรางหญ้า รางอาหารข้น ภาชนะให้น้ำและก้อนเกลือแร่อย่างเพียงพอ ภายในโรงเรือนแพะรีดนม แบ่งเป็นคอกสำหรับรีดนมพื้นที่ 3 x 3 ตารางเมตร ประกอบด้วย แท่นรีดน้ำนมและที่เก็บอุปกรณ์ ใช้ในการรีดนม เกษตรกรสามารถเลือกวิธีการเลี้ยงและโรงเรือนที่เหมาะสมกับตนเอง โดยพิจารณาจากวัตถุดิบประสบการณ์ จำนวนแพะ จำนวนทุนและสภาพแวดล้อมที่เลี้ยงเพื่อระบบการจัดการที่ดีและโรงเรือนที่ได้มาตรฐาน

          ดังนั้น การส่งเสริมการเลี้ยงแพะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตาม “โครงการธนาคารแพะตำบลสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้” ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ การจำหน่ายแพะและผลิตภัณฑ์จากแพะ ซึ่งในอนาคตแพะจะเป็นที่ต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มหันมาบริโภคเนื้อและนมแพะเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เนื้อแพะมีราคาสูง จากที่เนื้อและนมแพะเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต ถือเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียงกลุ่มเลี้ยงแพะ ในเรื่องการปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดมันสำปะหลังและกระถิน ที่นำมาใช้เป็นอาหารแพะ จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงแพะที่มีระบบจัดการที่ดีและตามมาตรฐาน ล้วนแต่ส่งผลดีให้กับผู้บริโภคและเกษตรกร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูล : กองงานพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ                        เรียบเรียง : น.ส.วรรณกร ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ