ทรอปิคอล โฮลสไตน์ โคนมพันธุ์ไทยของกรมปศุสัตว์ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเด่นประจำปีงบประมาณ 2563 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ลดการนำเข้าเชื้อแช่แข็ง ปีละ 50 ล้านบาท ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย
กรมปศุสัตว์พัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคนม โดยใช้เทคโนโลยีการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งของพ่อพันธุ์ที่ผ่านกระบวนการทดสอบลูกสาว (Progeny test) อย่างต่อเนื่องยาวนาน จนในปัจจุบันการเลี้ยงโคนมของไทย ประสบความสำเร็จ ก้าวนำหน้าทุกประเทศในเขตอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียว ในเขตร้อนชื้นที่มีพันธุ์โคนมที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ระบบการเลี้ยงและตลาดผลิตภัณฑ์ในไทยเป็นของตนเอง รู้จักกันในนาม “ทรอปิคอล โฮลสไตน์ (Tropical Holstein, TH)” สามารถผลิตน้ำเชื้อแช่แข็ง บริการผสมเทียม ปรับปรุงพันธุ์แม่โคนมของเกษตรกรทั่วประเทศในปัจจุบัน สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ ยังได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้แก่การใช้สถิติขั้นสูงในการวิเคราะห์ (Best Linear Unbiased Prediction, BLUP) มาใช้ในการประเมินพันธุกรรมพ่อและแม่พันธุ์โคนมในไทย ทำให้เกษตรกรมั่นใจว่าจะได้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ที่เกิดจากพ่อและแม่ชั้นเลิศ ที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาดผลิตภัณฑ์นม สภาพแวดล้อม และรูปแบบการจัดการเลี้ยงดูของไทย
โครงการพัฒนาและผลิตน้ำเชื้อพ่อโคนมพันธุ์ดี (Master Bull Project) มีเป้าหมายในการปรับปรุงพันธุ์โคนมของประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับระบบการผลิต ระบบการตลาด และโครงสร้างของประชากรโคนม คือจะสร้างโคนมพันธุ์ทรอปิคอล โฮลสไตน์ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูของประเทศไทย และมีสายเลือดของพันธุ์โฮลสไตน์ ฟรีเชียน มากกว่าหรือเท่ากับ 75% ขึ้นไป และมีพันธุกรรมของลักษณะการให้ผลผลิตน้ำนมสูงและมีลักษณะรูปร่างที่ดี ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีทางการปรับปรุงพันธุ์ เช่น วิธีการประเมินค่าทางพันธุกรรม ที่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงให้มีความถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้นตามลำดับอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาทั้งวิธีการทางสถิติ โมเดลที่ใช้ในการวิเคราะห์มาช่วยในการคัดเลือก โครงการนี้ช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศในการสั่งซื้อน้ำเชื้อจากต่างประเทศและน้ำเชื้อจากพ่อโคต่างประเทศ ที่มีการทดสอบและคัดเลือกจากแหล่งกำเนิดที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างไปจากประเทศไทยซึ่งไม่สามารถรับประกันได้ว่า ลูกที่เกิดมาจะมีความดีเด่นเท่ากับที่ปรากฎในแหล่งกำเนิดได้ นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงหรือเหมือนกับแหล่งกำเนิดของโคเหล่านั้น ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูง
นอกจากนี้สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโคพันธุ์ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในเขตร้อนชื้น และเป็นแหล่งสนับสนุนสายพันธุ์โคนมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานตามโปรแกรมปรับปรุงพันธุ์ ดังนี้
1. คัดเลือกแม่โคนมชั้นเลิศ (Superior dams) เพื่อเป็น Bull dams จำนวนปีละ 200 ตัว จากประชากร
โคนมที่มีบันทึกผลผลิตน้ำนม ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมปศุสัตว์ โดยมีปริมาณน้ำนมรวมต่อรอบการให้นมไม่น้อยกว่า 4,500 กิโลกรัม มีลักษณะรูปร่าง (Type traits) ดีเลิศตามลักษณะโคนม และเป็นแม่โคนมลูกผสมที่มีระดับสายเลือด 50.00 – 87.50%HF แม่โคประมาณครึ่งหนึ่งผสมพันธุ์กับน้ำเชื้อพ่อโคนมภายในประเทศ ที่ผ่านการพิสูจน์แล้วในลำดับต้นๆ เพื่อผลิตลูกโคเพศผู้
2. ลูกโคเพศผู้ที่เกิดประมาณปีละ 40 ตัว จะรวบรวมจากฟาร์มเกษตรกร โดยศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพ ไปเลี้ยงดูที่ศูนย์ทดสอบพ่อพันธุ์เพื่อทำการสอบถามความเป็นพ่อ แม่ ลูก (Parentage analysis) ตรวจสอบความผิดปกติของโครโมโซม (Karyotyping) และทดสอบสมรรถภาพ (Performance test)
3. เมื่อลูกโคเพศผู้อายุได้ประมาณ 12 – 14 เดือน โครุ่นเพศผู้ทั้งหมดจะถูกประเมินลักษณะรูปร่าง
โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โครุ่นที่ผ่านการทดสอบสมรรถภาพจะถูกส่งไปที่ศูนย์ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์ เพื่อทำการรีดเก็บน้ำเชื้อทดสอบคุณภาพน้ำเชื้อ (Semen quality test) และทดสอบความสามารถในการถ่ายทอดลักษณะโดยใช้ข้อมูลของลูกสาว (Progeny test)
4. การทดสอบความสามารถในการถ่ายทอดลักษณะ จะต้องกระจายน้ำเชื้อพ่อโค ทดสอบไปผสมเทียมกับแม่โคสาวของเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อให้ได้ลูกสาวจำนวน 50 – 100 ตัว ต่อพ่อโคทดสอบ 1 ตัว ให้เกษตรกรเลี้ยงลูกสาวในแต่ละฟาร์มจนโตเป็นสาวสามารถผสมพันธุ์ได้อายุประมาณ 15 – 18 เดือน แล้วผสมเทียมลูกสาวของพ่อพันธุ์ทดสอบจนตั้งท้องและคลอดลูก บันทึกปริมาณน้ำนมและเก็บตัวอย่างน้ำนมของลูกสาวทุกเดือน จนหยุดรีดนม
เพื่อวิเคราะห์คุณภาพน้ำนม พร้อมทั้งทำการทดสอบลักษณะรูปร่าง
5. ระหว่างรอผลการทดสอบความสามารถในการถ่ายทอดลักษณะ จะทำการรีดเก็บน้ำเชื้อพ่อโค ทดสอบไว้ในธนาคารน้ำเชื้อ (Semen bank) ประมาณพ่อละ 20,000 – 40,000 โด๊ส
6. หลังจากการประเมินค่าทางพันธุกรรมแล้ว พ่อโคทดสอบที่มีค่าทางพันธุกรรมเป็นบวก จะถูกคัดเลือกให้เป็นพ่อพันธุ์ที่ผ่านการพิสูจน์ (Proven sires) จำนวนปีละไม่น้อยกว่า 5 ตัว และเก็บน้ำเชื้อไว้ในธนาคารน้ำเชื้อต่อไป ส่วนน้ำเชื้อจากพ่อโคที่ไม่ผ่านการทดสอบจะถูกทำลายทิ้งทั้งหมด
7. น้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว จะนำไปใช้บริการผสมเทียมให้กับเกษตรกรโดยทั่วไป
และน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ในลำดับต้นๆ บางส่วนจะถูกนำไปผสมกับแม่โคนมชั้นเลิศ ในโปรแกรมการปรับปรุงพันธุ์ต่อไป
จากการที่กรมปศุสัตว์และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงโคนมพันธุ์ทรอปิคอล โฮลสไตน์ มาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปี ด้วยการผสมข้ามสายพันธุ์ ในระบบฝูงเปิด ระหว่างพ่อโคนมพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน (HF) โคนมที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ให้ผลผลิตน้ำนมสูง กับแม่โคพันธุ์พื้นเมืองหรือลูกผสมบราห์มันพื้นเมือง ที่มีคุณสมบัติความสมบูรณ์พันธุ์สูง หากินเก่ง ทนร้อนและทนโรคแมลง โดยการผสมเทียม เพิ่มระดับเลือดโฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน (Up grading) จนมีสายเลือด 87.5% HF – 93.75% HF จากนั้นจึงทำการคัดเลือกประชากรที่เกิดขึ้น โดยนำมาผสมกันเอง (Inter se) จนกระทั่งมีความคงที่ของลักษณะเป็นพันธุ์แท้ อีกทั้งยังมีการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์สำหรับผลิตลูกโคเพศผู้หนุ่มและแม่โคสาวเพื่อนำมาทดแทนในรุ่นต่อไปให้มีความถูกต้องแม่นยำอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบโมเดลและวิธีการทางสถิติ รวมถึงการคัดเลือกด้วย พันธุกรรมจีโนม (Genomic estimated breeding value, GEBV) ในปัจจุบัน สำหรับเกษตรกรที่สนใจและต้องการขอรับบริการผสมเทียม
ด้วยน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนมทรอปิคอล โฮลสไตน์ สามารถติดต่อได้ที่หน่วยผสมเทียมกรมปศุสัตว์ ทั่วประเทศ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อมูล : สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ เรียบเรียง : น.ส.วรรณกร ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ